3 เดือนแก้สัญญาไฮสปีด เยียวยา “ซีพี” ผลกระทบโควิด

3 เดือนแก้สัญญาไฮสปีด เยียวยา “ซีพี” ผลกระทบโควิด

“ร.ฟ.ท.-ซีพี” เดินหน้าแก้สัญญารถไฟความเร็วสูง เยียวยาผลกระทบโควิด แบ่งจ่ายค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมตั้งตั้งคณะทำงานเจรจาแก้สัญญา เร่งสรุปให้จบใน 3 เดือนจบ

กระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564

สำหรับการแก้ไขสัญญาครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการใน 2 ประเด็น คือ 

1.ประเด็นการจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับแนวทางการเยียวยาผลกระทบจากโควิด 

2.ประเด็นการให้เอกชนคู่สัญญาก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับผลกระทบโควิดแต่เป็นการแก้ปัญหา 2 โครงการ ใช้พื้นที่ก่อสร้างทับซ้อนกัน โดยเจรจาให้กลุ่มซีพีสร้างแทรครถไฟเพิ่มจาก 2 แทรค เป็น 4 แทรค สำหรับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ด้วย ซึ่งรัฐจ่ยจ่ายเงินชดเชยค่าก่อสร้างส่วนนี้ให้กลุ่มซีพี

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนคู่สัญญาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นข้อเสนอมาจากบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่ระบุถึงผลกระทบของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากการระบาดขงโรคโควิด-19 จึงขอปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยยื่นข้อเสนอ 3 แนวทางที่เกี่ยวข้องกับโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ คือ

1.การขยายระยะเวลาจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากเดิมที่ต้องชำระเต็มจำนวน 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค.2564

2.การเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมทุนโครงการ (PIC) 

3.การขอขยายระยะเวลาโครงการ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ภายหลังจาก ครม.เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ในวันที่ 20 ต.ค.2564 เรื่องการบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้ามีความต่อเนื่องในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และให้บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เข้ามาเดินรถไฟฟ้าในวันที่ 25 ต.ค.2564

ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนครั้งนี้กำหนดกรอบเวลาให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบกับการเริ่มก่อสร้างโครงการมากนัก

สำหรับการแก้ไขสัญญาเบื้องต้นคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงกรรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นชอบเลื่อนการจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 3 เดือน และปรับวิธีการชำระเงินค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากงวดเดียว 10,671 ล้านบาท ปรับเป็นการแบ่งจ่าย โดยงวดแรกจ่ายไปแล้วสัดส่วน 10% หรือ 1,071 ล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนคู่สัญญาได้มีการจ่ายเงินค่ามัดจำในสัดส่วน 10% ของวงเงินรวม คือ จ่ายให้กับ ร.ฟ.ท.แล้ว 1,067 ล้านบาท โดยในส่วนที่เหลือได้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อทำงานร่วมกันในการเจรจาและทำข้อตกลงให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดตามที่คณะกรรมการอีอีซีได้ให้นโยบายว่าไม่ให้กระทบกับประชาชน รัฐบาลไม่เสียประโยชน์ และเอกชนได้รับความเป็นธรรม 

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทางออกของการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายเงินมีทางออกหลายแบบ โดยหนึ่งในนั้นคือแนวทางการให้เอกชนสามารถผ่อนจ่ายเป็นรายงวดได้ โดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยตามที่มีการกำหนดไว้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการให้ผ่อนชำระได้กี่งวด และคิดอัตราดอกเบี้ยกี่เปอร์เซนต์แต่มีหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดอยู่แล้ว 

 “ผลตอบแทนที่รัฐต้องได้รับต้องไม่น้อยกว่ามูลค่า NPV ที่คิดมาเป็นมูลค่าในปัจจุบันที่ 10,671 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายให้เอกชนมาดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเข้ามาดำเนินงานโดยที่ยังไม่ได้รายได้เนื่องจากต้องรอให้ข้อตกลงใหม่เสร็จเรียบร้อยก่อน” นายคณิศ กล่าว 

เอกชนคู่สัญญาได้ขอผ่อนผันการจ่ายเงินสิทธิ์การบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากเดิมที่ต้องจ่ายภายในวันที่ 24 ต.ค.2564 เต็มวงเงิน 10,671 ล้านบาท ออกไปก่อนและขอเจรจาทำสัญญาใหม่กับ ร.ฟ.ท.เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากปัญหาที่ไม่มีการคาดหมายมาก่อนอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการประกาศล็อคดาวน์ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงจากที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 70,000 เที่ยวต่อคนต่อวัน ลดลงเหลือประมาณ 10,000 เที่ยวต่อคนต่อวันเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อรายได้ที่จะเข้ามา

“เอกชนได้ทำหนังสือเพื่อขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และ ครม.เป็นที่เรียบร้อย”