เฉลิมชัย ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางดันทุกมิติเพื่อหลุดความจน

เฉลิมชัย ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางดันทุกมิติเพื่อหลุดความจน

เฉลิมชัย เดินหน้า ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง ดันทุกมิติ สร้างความมั่นคงในอาชีพ หวังหลุดพ้นความยากจน เปลี่ยนโฉมภาคการเกษตรไทย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ  ในงาน สัมมนาวิชาการ “Disruptive Change: เกษตรไทย ต้องเปลี่ยนโฉม” ว่า ภาคเกษตร มีบทบาทสำคัญ และเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งรองรับแรงงานที่สำคัญ และเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงเป็นรากฐานของการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศและของโลก

 

เฉลิมชัย ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางดันทุกมิติเพื่อหลุดความจน

 อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายหลายประการ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เช่นปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรภาคเกษตรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ การขาดองค์ความรู้ ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรกรยังไม่สามารถเข้าถึงช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ได้ รวมถึงกฎระเบียบและมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น  ซึ่งถือเป็นความท้าทายของภาคเกษตรที่ต้องเผชิญ

ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงให้ความสำคัญ ในการเดินหน้าผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมั่นคง และหลุดพ้นจากความยากจน โดยเน้นแนวทางการดำเนินการในทุกมิติ                   ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทุกด้าน พัฒนาให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพ  พัฒนาฐานข้อมูล Big Data เชื่อมโยงการทำงานระหว่างศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กับ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร

 เพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่และเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Agriculture) สร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ นำกรอบแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) มาใช้ในการพัฒนา การส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ Startup เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตร

 ขณะที่ด้านการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ได้มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์รูปแบบการบริโภคในอนาคต (Future Food) และอาหาร  เพื่อสุขภาพ (Functional Food)  สินค้าเกษตรเพื่อพลังงานและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น สมุนไพร แมลงเศรษฐกิจ สินค้าโปรตีนจากพืช (Plant Based) และพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น

รวมถึงสร้างความสมดุลด้วยการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ภายใต้หลัก ตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาสินค้าตกต่ำ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ และช่องทางการตลาดให้หลากหลาย และสิ่งสำคัญคือ สร้างภูมิคุ้มกันและสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร โดยมีระบบประกันภัยพืชผล และการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกษตรกรประสบภัยพิบัติ             ต่าง ๆ อย่างครอบคลุมด้วยเช่นกัน

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึง แนวทางการปรับตัวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สู่ “Next normal 2022” ว่า บุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ คือฟันเฟืองสำคัญที่ต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับบริบทที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตเช่นเดียวกัน โดยเน้นการสร้าง Service mind ในการบริการ เพราะเกษตรกรคือลูกค้าคนสำคัญ

บุคลากรต้องเป็น Smart Officer มีความรอบรู้ สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดให้กับเกษตรกรด้วยช่องทางที่หลากหลาย มีการพัฒนากระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยี สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะงานวิจัย ถ่ายทอดงานวิจัยไปสู่เกษตรกร เช่น

 การใช้พื้นที่จริงหรือฟาร์มของเกษตรกรเป็นแปลงทดลองหรือพื้นที่ศึกษาวิจัย เกษตรกรรายย่อยสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผ่านการถ่ายทอดจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัด  

นอกจากนี้ คือการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ครอบคลุมทุกด้านทั้งสินค้า การตลาด และทรัพยากร และนำไปใช้วางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ  ซึ่งเชื่อมั่นว่า การขับเคลื่อนทั้งด้านการพัฒนาคน พัฒนากระบวนการทำงาน การศึกษาและวิจัย รวมไปถึงสร้างความร่วมมือในการพัฒนาภาคเกษตรจากทุกภาคส่วน กระทรวงเกษตรฯ จะสามารถพัฒนาการเกษตรของไทยให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่งคงและยั่งยืนต่อไป