‘เฉลิมชัย’ ฝันจีดีพีเกษตรแตะ 20% หลุดพ้นยากจน

กระทรวงเกษตรฯลุยปรับโครงสร้างภาคเกษตรรองรับอนาคต ชี้เห็นความเปลี่ยนแปลงแน่หากผลักดันจีดีพีเพิ่มเป็น 20% ทำให้เกษตรกร 30 ล้านคน มีรายได้มั่นคง และลดความยากจน 

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ระบุในงานสัมมนาวิชาการ “Disruptive Change: เกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม" ระบุ แม้ภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด 19 น้อยที่สุด แต่ก็ยังไม่เพียงพอหากไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคเกษตรในอนาคต ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคเกษตรมีจำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องมากถึง 30 ล้านคน แต่จีดีพีภาคเกษตรมีสัดส่วนแค่ 8% เท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคนจำนวนมากเกือบครึ่งประเทศที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจำเป็นจะต้องผลักดันจีดีพีภาคเกษตรให้เพิ่มขึ้น เพราะหากผลักดันจีดีพีภาคเกษตรได้ถึงสัดส่วน 20% ก็จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งนโยบาย งบประมาณ และการพัฒนา ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั้งยืน  

“ปัญหาเกษตรกรสะสมมาหลาย 10 ปี ซึ่งเป็นปัญหาเดิมๆ คือภัยซ้ำซาก ซึ่งเป็นภาพเก่าๆ คืออุทกภัย พอผ่านมา 3 เดือนก็เจอภัยแล้ง ปัญหาต่อมาคือ เรื่องการตลาด ราคาสินค้า เรื่องผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้ปริมาณอยู่จุดคุ้มทุน สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องปรับโครงสร้างและเปลี่ยนแปลง
โดยมองว่าวิกฤติโควิด จะสามารถพลิกเป็นโอกาส แต่จะเปลี่ยนอะไรบ้าง เป็นเรื่องการจัดระเบียบวางเป้าหมายทิศทางให้ชัดเจน”

สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนั้น มองว่าต้องให้ความสำคัญทั้ง 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชน มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการเกษตร การผลักดันนโยบายตลาดนำการผลิต ทั้งหมดนี้จะสามารถปรับโฉมเกษตรของไทยได้ ที่สำคัญคือการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในภาคเกษตร ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการผลักดันจีดีพีภาคเกษตรได้ต่อไป ภายใต้จุดมุ่งหมายการสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม 

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทองเปลว กองจันทร์ ระบุ กระทรวงฯได้วางแนวทางภาคการเกษตรไว้แล้ว โดยจะเน้น 3 เรื่อง คือ ความมั่นคงด้านอาหาร ผลผลิตมีคุณภาพ หรือมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรมีราคาหลุดพ้นสภาวะความยากจน ที่แต่ละปีต้องเป้าไว้ที่จะลดความยากจนให้ได้ 10% นั้นคือการทำเกษตรแปรรูปและมีมูลค่าสูง  ซึ่งกระทรวงฯจะเข้าวางแผนส่งเสริมเกษตรกร ระบบการผลิต การตลาด และการเข้าไปดูแลภาคเกษตรของไทยที่มีทั้งหมด 149 ล้านไร่ แบ่งเป็น ชลประทาน 35 ล้านไร่ มีเกษตรกร 8 ล้านครัวเรือน หรือ 30 ล้านราย มีจีดีพีเกษตร 8.6% โดยตัวชี้วัดจะผลักดันให้ได้จีดีพีเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี 

“การดูแลจะแบ่งออก 3 กลุ่ม คือ เกษตรกรพื้นฐาน หรือกลุ่มสูงวัย เกษตรท่องเท่ียว และเกษตรุ่นใหม่ ที่ต้องการแผนกำลังพลใหม่ ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างในอนาคต” 

นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ระบุ ความเสี่ยงภาคเกษตรยังมีสูง เพราะขึ้นอยู่กับราคา ดังนั้นจึงต้องปรับปรุงโครงสร้างภาคเกษตร โดยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงต้องผลักดันให้เกษตรกรรมเป็นอาชีพ ไม่ใช่มองว่าเกษตรกรยากไร้ ต้องได้รับความช่วยเหลือตลอดเวลา ทำให้มีการจัดสรรงบประมาณในการปรับโครงสร้างที่ไม่ตรงจุด  และต้องมีความชัดเจนในการบริหารจัดการกับกลุ่มเกษตรกรทั้งเกษตรกรสมัยใหม่ เกษตรกรทางเลือก และเกษตรกรสูงวัย เพื่อจัดสรรเทคโนโลยี บุคลากร และงบประมาณ ในการดูแลได้ถูกต้อง