“WHART” ลุยลงทุนสินทรัพย์ผู้เช่าชั้นนำ

“WHART” ลุยลงทุนสินทรัพย์ผู้เช่าชั้นนำ

“กองทรัสต์ WHART” เตรียมเพิ่มทุนครั้งที่ 6! เพื่อลงทุนในทรัพย์สินหลักเพิ่มเติมมูลค่าไม่เกิน 5,550 ล้านบาท ใน 3 โครงการทำเลทอง “วังน้อย-บางนาตราด-ฉะเชิงเทรา” ชู “จุดเด่น” ผู้เช่าระดับพรีเมี่ยม ในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตยุคโควิด-19 อาทิ กลุ่ม E-Commerce, FMCG และ Logistic

นายอนุวัฒน์ จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ เรียล เอสเตท แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) เปิดเผยว่า ในปี 2564 กองทรัสต์ WHART กำลังจะเพิ่มทุนครั้งที่ 6 โดยเป็นการเข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวน 3 โครงการ มูลค่าไม่เกิน 5,550 ล้านบาท มีพื้นที่เช่าอาคารรวมประมาณ 184,329 ตารางเมตร

“WHART” ลุยลงทุนสินทรัพย์ผู้เช่าชั้นนำ

ประกอบด้วย 1.โครงการดับบลิวเอชเอ อี คอมเมิร์ซ พาร์คตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัด EEC 2.โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ถนนบางนา-ตราด กม. 23 โปรเจค 3) ตั้งอยู่ที่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ และ 3.โครงการ ดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (วังน้อย 62) ตั้งอยู่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

คุณอนุวัฒน์ ได้กล่าวว่า ในปีนี้ กองทรัสต์ WHART เข้าลงทุนทั้ง 3 โครงการ มีกลุ่มผู้เช่ารายใหญ่ที่มีชื่อเสียง และอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มั่นคงและมีการเติบโตต่อเนื่อง เช่น กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce), สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป (FMCG) และ โลจิสติกส์ (Logistic) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กองทรัสต์เองมีการกระจายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมของผู้เช่าที่ดีขึ้น อีกทั้งผู้เช่าเหล่านี้ยังมีอายุของสัญญาเช่าเฉลี่ยกับผู้เช่าพื้นที่เป็นสัญญาระยะยาวสร้างความมั่นคงให้แก่กองทรัสต์

สำหรับอีกหนึ่ง “จุดเด่น” ที่สำคัญของการเพิ่มทุนครั้งนี้ ได้แก่ทำเลที่ตั้งของทรัพย์สินทั้ง 3 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทำเลศักยภาพที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บริเวณถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่กองทรัสต์ได้เข้าไปลงทุน บริเวณอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ในพื้นที่ EEC โดยหลังการเพิ่มทุนในครั้งนี้กองทรัสต์จะมีสัดส่วนทรัพย์สินในพื้นที่ EEC ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่จะเข้าลงทุนในครั้งนี้ยังมีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยในระดับสูงถึง 92% (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564) และมีอายุสัญญาเช่าคงเหลือของผู้เช่าเฉลี่ย (WALE) หลังทำการเพิ่มทุนอยู่ในระดับสูงถึง 3.5 ปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เนื่องจากโครงการที่กองทรัสต์ WHART ลงทุนส่วนใหญ่เป็นประเภท Built-to-Suit ซึ่งมีสัญญาเช่าของผู้เช่าที่ค่อนข้างยาว โดยอายุสัญญาเช่าเฉลี่ยของทรัพย์สินที่กองทรัสต์จะลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้อยู่ที่ 10.7 ปี

ภายหลังการเพิ่มทุนครั้งที่ 6 เพื่อลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมในครั้งนี้ จะส่งผลให้กองทรัสต์ WHART มีมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์แตะที่ระดับ 48,000 ล้านบาท และมีพื้นที่เช่าภายใต้การบริหารเพิ่มเป็น 1.58 ล้านตารางเมตร” 

สำหรับ กองทรัสต์ WHART ถือเป็นหนึ่งในผู้นำกองทรัสต์ในกลุ่มคลังสินค้าและอุตสาหกรรมที่มีปัจจัยสนับสนุนความแข็งแรง และโดดเด่นในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการที่มีทรัพย์สินในทำเลศักยภาพที่เป็นศูนย์กลางจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย ความมั่นคงทางรายได้จากสัญญาเช่าระยะยาว เนื่องจากคลังสินค้าที่ WHART ลงทุนส่วนใหญ่เป็นคลังสินค้าประเภท Built-to-Suit อีกทั้งผู้เช่าพื้นที่ในทรัพย์สินของกองทรัสต์ เป็นผู้เช่าชั้นนำในกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในการเพิ่มทุนของ กองทรัสต์ WHART ครั้งนี้จะเสนอขายหน่วยทรัสต์จำนวนไม่เกิน 385,898,000 หน่วย และมีการกำหนดราคาสูงสุดไว้ที่ 12.90 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมที่มีสิทธิจองซื้อ สามารถจองซื้อระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย.2564 ส่วนประชาชนทั่วไป (Public Offering) ซึ่งเป็นบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหน่วยทรัสต์ จะเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2564 โดยจองซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ K-My Invest (https://www.kasikornbank.com/kmyinvest) หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ ทั้ง 3 โครงการ จะมาช่วยเสริมความแข็งแกร่งเดิมให้กับ กองทรัสต์ WHART โดยประมาณการจ่ายประโยชน์ตอบแทนและเงินลดทุนอ้างอิงงบกำไรขาดทุนและการจ่ายประโยชน์ตอบแทนตามสถานการณ์สมมติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ถึง 31 ธ.ค. 2565 อยู่ที่ประมาณ 0.80 บาทต่อหน่วย ภายหลังการเข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งนี้

คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน