ส่งออก ก.ย.พุ่ง 17.1% มูลค่าแตะ 23,036 ล้านดอลลาร์

ส่งออก ก.ย.พุ่ง 17.1% มูลค่าแตะ 23,036 ล้านดอลลาร์

พาณิชย์ เผย การส่งออกไทยเดือนก.ย.ขยายตัว 17.1 %มูลค่า 23.036 ล้านดอลลาร์ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ปัจจัยหลักจากการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออกและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือน ก.ย.ขยายตัว 17.1 %มูลค่า 23.036 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองงคำและอาวุธ การส่งออกไทยขยายตัว 14.8 % 

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 22,426 ล้านดอลลาร์ ไทยได้ดุลการค้า 609 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย.2564) มีมูลค่า 199,997 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวที่ 15.5 %

ส่งออก ก.ย.พุ่ง 17.1% มูลค่าแตะ 23,036 ล้านดอลลาร์

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของยังขยายตัวต่อเนื่องมาจาก การผลักดันและแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการส่งออกอย่างต่อเนื่องของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การทำงานของกรอ.พาณิชย์  รวมถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก

สำหรับการส่งอออกในสินค้าสำคัญ 3 หมวดยังคงขยายตัวได้ดี ประกอบ 1. สินค้าเกษตร ส่งออกเพิ่มขึ้น 12.9% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา เพิ่ม 83.6% เป็นบวก 12 เดือนต่อเนื่อง และบวกในทุกตลาด เช่น จีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ลำไยสด เพิ่ม 73.8% เป็นบวกทุกตลาด 4 เดือนต่อเนื่อง ทั้งจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และฮ่องกง มะม่วงสด เพิ่ม 55.9% บวกทั้งในตลาดเกาหลี มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเมียนมา มันสำปะหลัง เพิ่ม 44.4% บวกในหลายตลาด ซึ่งหลายคนเข้าใจว่ามันสำปะหลังพึ่งแต่ตลาดจีนเป็นหลัก แต่มีตลาดอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเกาหลี เป็นต้น

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 11.3% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่ม เช่น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 29.3% โดยเฉพาะสับปะรดกระป๋อง เพิ่ม 118.3% ผลไม้รวมกระป๋อง เพิ่ม 100.6% และมะม่วงกระป๋อง เพิ่ม 60.7% อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นพระเอกมาโดยตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพิ่ม 23.6% เป็นบวก 25 เดือนต่อเนื่อง ทั้งในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ออสเตรเลีย อิตาลี ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
         
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 15.8% สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เพิ่ม 61% เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก เพิ่ม 38.8% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพิ่ม 32.8% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 4.9% เป็นบวก 11 เดือนต่อเนื่อง  
         
ทางด้านตลาดส่งออก
ตลาดหลัก เพิ่ม 18.1% โดยสหรัฐ เพิ่ม 20.2% จีน เพิ่ม 23.3% ญี่ปุ่น เพิ่ม 13.2%  อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่ม 25.7% CLMV เพิ่ม 8.2% และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) เพิ่ม 12.6 ตลาดรอง เพิ่ม 21.8% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 69.0% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 3.0% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 17.4% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 30.2% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 10.1% และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 42.5 และตลาดอื่น ๆ หดตัว 65.5% ซึ่งหลายตลาดเป็นตลาดใหม่ที่เป็นเป้าหมายที่กรอ.พาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกันและเห็นว่าจะต้องเร่งผลักดันการส่งออก และทำได้ดีจนส่งออกดีขึ้น