ย่านราชประสงค์ส่ง "ศรัทธามาร์เก็ตติ้ง" ปลุกเศรษฐกิจ-การค้า-ท่องเที่ยว

ย่านราชประสงค์ส่ง "ศรัทธามาร์เก็ตติ้ง"  ปลุกเศรษฐกิจ-การค้า-ท่องเที่ยว

“ย่านราชประสงค์” มีส่วนผสมระหว่างความทันสมัยในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้ากับศรัทธาบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ระดับโลกที่ชาวต่างชาติเลื่อมใส โดยเฉพาะตลาดจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือนไม่ขาดสาย

เสริมความแข็งแกร่งของดีเอ็นเอใหม่ “Land of Wisdom” หรือย่านแห่งภูมิปัญญาอัจฉริยะ ที่หล่อหลอมอัตลักษณ์และเรื่องราวต่างๆ จนเกิดเป็นไลฟ์สไตล์เอกลักษณ์ “Eat-Pray-Stay-Shop

ชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) กล่าวว่า ในช่วงปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ย่านราชประสงค์มีทราฟฟิกเฉลี่ย 2 แสนคนต่อวัน! กว่า 30-35% เป็นนักท่องเที่ยว โดยปัจจุบันทราฟฟิกลดลงเหลือ 6-8 หมื่นคนต่อวันจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สร้างข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวได้แบบปกติ รวมถึงสำนักงานของบริษัทต่างๆ ได้ออกมาตรการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)

สมาคมฯจึงต้องปรับกลยุทธ์มาใช้ “การสร้างเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล” หรือ “Festival Economy” โดยเฉพาะในระยะสั้นนี้ เป็นตัวจุดประกายบรรยากาศการท่องเที่ยว ประเดิมด้วยงาน “เทศกาลราชประสงค์ 8 องค์เทพ” เพื่อรักษาฐานนักท่องเที่ยว (Fanbase) ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เกิดการรับรู้ว่าย่านราชประสงค์ยังคงมีความเคลื่อนไหว และสร้างความสัมพันธ์ (Engagement) ให้เกิดขึ้นระหว่างย่านฯกับนักท่องเที่ยวไม่ให้ขาดหาย

โดยได้นำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ที่สามารถสักการะองค์เทพได้เสมือนจริงทุกมุมแบบ 360 องศา ตลอด 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวและผู้ศรัทธาที่ยังเดินทางมาไม่ได้ ผ่าน www.bkkdowntown.com และสามารถถ่ายภาพเป็นที่ระลึกได้ เสมือนได้มาอยู่ในพื้นที่จริง เริ่มเปิดงานเทศกาลฯวันที่ 9 พ.ย.นี้ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดพิธีบวงสรวงประจำปีท่านท้าวมหาพรหม ผ่านเฟซบุ๊ก “We Love Ratchaprasong” ส่วนแผนระยะยาวในการสร้างงานเทศกาลฯประจำ จะดึงอัตลักษณ์ของแต่ละองค์เทพเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี 2565

งานเทศกาลราชประสงค์ 8 องค์เทพ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว และย้ำเตือนให้รู้ว่าย่านราชประสงค์ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยประสบการณ์สุดพิเศษ รอให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสอีกครั้ง”

รองรับแผนการเปิดประเทศ! หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 เรื่อง “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก “ประเทศความเสี่ยงต่ำ” ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และต้องมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง มาเที่ยวไทยแบบ “ไม่กักตัว” และ “ไม่จำกัดพื้นที่”

บุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) กล่าวเสริมว่า ย่านราชประสงค์มีกระบวนการบ่มเพาะตัวตนของพื้นที่มาอย่างยาวนาน ทำให้การออกแบบงานเทศกาลมีความชัดเจน เข้ากับอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยโจทย์หลักที่สมาคมฯช่วยคิดคือการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของย่านฯในการตอกย้ำดีเอ็นเอของพื้นที่ ด้วยการใช้เอกลักษณ์เรื่อง “8 องค์เทพ” สู่การสร้าง “คอนเทนต์” ที่เข้มแข็ง ผ่านผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เริ่มจาก Special Exclusive Talk Series 3 สัปดาห์ กับ 5 กูรูคนดังของเมืองไทย หยิบยกเรื่องราวมิติต่างๆ ที่น่าสนใจตั้งแต่ความเป็นมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมุมมองเรื่องความเชื่อและการบูชาที่เกี่ยวข้อง มาจุดประกายทั้งต่อนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามารับประสบการณ์ในย่านราชประสงค์ รวมถึงผู้ประกอบการที่จะนำคอนเทนต์ไปต่อยอดในการออกแบบพื้นที่ สินค้า และบริการที่เกี่ยวโยง

“Festival Economy จะช่วยสร้างมรดกทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อห่วงโซ่คุณค่าและสร้างความยั่งยืนแก่พื้นที่นั้นๆ ในอนาคต โดยย่านราชประสงค์มีต้นทุนที่ดีอย่างโครงสร้างพื้นฐาน สามารถสร้าง Spider Link ได้อีกมาก ยึดโยงจากพลังศรัทธาเข้ามาปลุกเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นจุดที่มีเอกลักษณ์ที่สุดของย่านราชประสงค์ และมีศักยภาพในการผลักดันสู่การเป็นงานเทศกาลระดับโลกได้ในอนาคต”

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมเเละนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า Festival Economy เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ กระจายรายได้ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรอบด้านและสามารถต่อยอดให้ยั่งยืนได้ โดยทีเส็บได้เล็งเห็น “พื้นที่ต้นแบบ” ที่มีความเข้มแข็งของเนื้อหาอย่างย่านราชประสงค์ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์เรื่องราวความน่าสนใจในแง่มุมที่แตกต่างและหาไม่ได้จากย่านอื่นๆ สามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าแก่ย่านฯไปสู่การสร้างมรดกทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับพื้นที่นี้