เงินบาทเปิดตลาดวันนี้ อ่อนค่า ที่ 33.37 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาดวันนี้ อ่อนค่า ที่  33.37 บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย" เผยเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20 ต.ค.) อ่อนค่าที่ 33.37บาทต่อดอลลาร์ จากแรงขายทำกำไรธีมเปิดประเทศของนักลงทุนต่างชาติ หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดี เชื่อว่ายังเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นไทย หนุนเงินบาทกลับมาแข็งค่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(20ต.ค.)ที่ระดับ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.30 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้นเงินบาทยังมีทิศทางผันผวนจากทิศทางของเงินดอลลาร์ การเก็งกำไรทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเราคงมองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังสามารถกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นการขายทำกำไรธีม Reopening  (เปิดประเทศ) จากนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้จากแรงขายหุ้นไทยสุทธิราว 1.6 พันล้านบาท ในวันก่อน ซึ่งทิศทางฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนได้ในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี หากการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่อง เราเชื่อว่าจะเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยและช่วยให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้อีกครั้ง นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมการเก็งกำไรทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินบาทได้เช่นกัน โดยเชื่อว่าผู้เล่นในตลาดทองคำ ต่างรอทยอยเข้ามาซื้อทองคำในแนวรับช่วง 1,760-1,770 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และรอทยอยขายทำกำไร หากเห็นราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 จุด (ซื้อทองคำในสกุลเงินดอลลาร์ จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ กลับกันการขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น) 

อนึ่ง เราคงมองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ 

 

ผู้เล่นในตลาดการเงินโดยรวมกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยออกมาดีกว่าคาด พร้อมกับให้มุมมองแนวโน้มผลประกอบการที่ยังเติบโตได้สดใส นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงแนวโน้มการเกิดภาวะ Stagflation ซึ่งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.74% เช่นเดียวกับดัชนี หุ้นเทคฯ Nasdaq ที่ปรับตัวขึ้นกว่า +0.71% เราคาดว่ารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจับตามองและมีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้นนี้

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 รีบาวด์กลับขึ้นมาราว +0.37% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีเช่นกัน นำโดยหุ้นในกลุ่มพลังงาน อาทิ Enel +2.5% รวมถึงหุ้นเทคฯ อย่าง Adyen +2.2%, ASML +1.2% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มตลาดทยอยเปิดรับรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 7bps สู่ระดับ 1.65% ซึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลก ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามทิศทางของนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักที่จะเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ การทยอยคิวอี และคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟดรวมถึงประธานเฟดในสัปดาห์นี้ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด อย่างไรก็ดี หากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.70%-1.75% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในปีนี้ เราคาดว่าอาจเห็นผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวที่ระดับดังกล่าว ทำให้บอนด์ยีลด์อาจแกว่งตัวในกรอบไม่เกิน 1.75% จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์

ทางด้านตลาดค่าเงิน ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) รีบาวด์ขึ้นมาเล็กน้อยสู่ระดับ 93.80 จุด หลังจากที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ผ่านมาจนแตะระดับ 93.50 จุด ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด รวมถึง มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ธนาคารกลางอื่นๆ อาจทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วและมากกว่าเฟด ซึ่งเราคาดว่า ปัจจัยดังกล่าว รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะยังคงกดดันให้ เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ แต่เงินดอลลาร์อาจไม่อ่อนค่าไปมาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐฯ โดยรวมยังออกมาแข็งแกร่งกว่าข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามทิศทางของเงินเฟ้อในฝั่งยุโรป ท่ามกลางปัญหาด้าน Supply Chain ที่หนุนราคาต้นทุนสินค้า รวมถึง ราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยในฝั่งอังกฤษ ตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนกันยายน จะอยู่ในระดับสูงที่ 3.2% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด อาจกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้ง ภายในปีนี้ เช่นเดียวกับในฝั่งยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ที่ระดับ 3.4% ซึ่งอาจหนุนการทยอยลดคิวอีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในปีนี้เช่นกัน 

นอกจากนี้ในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า การชะลอตัวหนักของเศรษฐกิจจีนชี้ว่าทางการจีนอาจใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นและใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) จะคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (LPR) ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% สำหรับ LPR อายุ 1 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ 
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ Tesla ที่จะประกาศงบการเงินในช่วงหลังตลาดปิดทำการ ซึ่งถ้าหากงบของบรรดาบริษัทจดทะเบียนต่างออกมาดีกว่าคาดและแนวโน้มจะเติบโตได้ในอนาคตก็จะช่วยให้ตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงต่อได้