ครม.เยียวยาไฮสปีด “ซีพี” ปูทางแก้สัญญายืดจ่ายค่า “แอร์พอร์ต เรลลิงก์”

ครม.เยียวยาไฮสปีด “ซีพี” ปูทางแก้สัญญายืดจ่ายค่า “แอร์พอร์ต เรลลิงก์”

ครม.รับทราบแนวทางลดผลกระทบโควิด-19 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลัง “เอรา วัน” คู่สัญญามีปัญหาชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 1 หมื่นล้าน จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจช่วงโควิด-19

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด

สำหรับการร่วมลงทุนครั้งนี้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จะได้รับสิทธิการบริการโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยในสัญญาร่วมลงทุนกำหนดให้เอกชนคู่สัญญาจะต้องชำระค่าสิทธิบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท เต็มจำนวนภายใน 2 ปี หลังลงนามสัญญา หรือภายในวันที่ 24 ต.ค.2564

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันดำเนินงานโดยเร็ว เพื่อให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เกิดปัญหาในส่วนของการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 โดยทาง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญา มีหนังสือหารือผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งผลกระทบเกิดขึ้นจริงจากเหตุสุดวิสัยของภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ทั้งนี้ เอกชนได้ขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยา โดยขอขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการ และการขยายระยะเวลาโครงการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายไม่อาจคาดการณ์ได้ก่อนลงนามในสัญญา และมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงจึงมีมติเห็นชอบหลักการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์ แก่เอกชนคู่สัญญาและแนวทางดำเนินการระหว่างกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นด้วยกับหลักการและมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ตามสัญญาร่วมลงทุนที่จะถึงกำหนดชำระวันที่ 24 ต.ค.2564 เนื่องจากโควิด-19 นั้น ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผ่อนผันในการไม่ชำระเงิน

ดังนั้น กพอ.จึงได้มอบหมายให้ รฟท. , สกพอ. และคณะกรรมการกำกับดูแลฯ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอ ครม.

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยถ้าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวระหว่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนอาจทำให้การบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ต้องหยุดให้บริการหลังจากวันที่ 24 ต.ค.2564 และอาจส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชนในวงกว้าง นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังต้องแบกภาระการขาดทุนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ ร.ฟ.ท.และจะสร้างความเสียหายต่อโครงการอื่นของภาครัฐ