ตลท.เผย 9 เดือน บจ.แห่เพิ่มทุน 8.4 หมื่นล้าน จ่อตุนสภาพคล่องโค้งท้าย

ตลท.เผย 9 เดือน บจ.แห่เพิ่มทุน 8.4 หมื่นล้าน จ่อตุนสภาพคล่องโค้งท้าย

ตลท.เผย 9 เดือนแรก บจ.แห่เพิ่มทุนกว่า 8.4 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 15.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน “ไทยพาณิชย์” ชี้ เทรนด์ยังโตต่อเนื่อง เผยลูกค้าเข้ามาขอคำปรึกษา “เพิ่มทุนขยายธุรกิจ-ลดภาระหนี้-ให้พันธมิตร” “วงการวาณิชธนกิจ” คาดปี 64 ยอดเพิ่มทุนส่อทะลุปี 63 เหตุ พิษโควิด

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนปีนี้  (ม.ค.-ก.ย.2564) บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในตลาดรอง (Secondary Offering) รวมมูลค่า 84,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 72,774 ล้านบาท โดยการเพิ่มทุนผู้ถือหุ้นเดิม (RO) มีมูลค่าสูงสุด 46,606 ล้านบาท

รองลงมาเป็นการเพิ่มทุนแก่บุคคลในวงจำกัด (PP) 19,590 ล้านบาทการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) 11,711 ล้านบาท การเพิ่มทุนนักลงทุนทั่วไป (PO) 5,208 ล้านบาท และการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) 905 ล้านบาท

บจ.เพิ่มทุนปี 64

ทั้งนี้ เฉพาะไตรมาส 3 ปี 2564 บจ.เพิ่มทุน 27,880 ล้านบาท ลดลง 12.5% จากไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ 31,853 ล้านบาท โดยการเพิ่มทุน RO มีมูลค่าสูงสุด 15,498 ล้านบาท การเพิ่มทุน PP 7,967 ล้านบาท Warrant 2,370 ล้านบาท PO 1,531 ล้านบาท และหุ้นกู้แปลงสภาพ 515 ล้านบาท

หากพิจารณารายเดือน พบว่า ในเดือน ก.ย. มูลค่าเพิ่มทุนของบจ.อยู่ที่ 11,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.3% จากเดือน ส.ค.ที่ 7,218 ล้านบาท โดยการเพิ่มทุน RO ยังมีมูลค่าสูงสุด 9,386 ล้านบาท การเพิ่มทุน PP 1,071 ล้านบาท Warrant 552 ล้านบาท และหุ้นกู้แปลงสภาพ 200 ล้านบาท

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มทุนของบจ.เพื่อขายหุ้นในตลาดรองมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าบจ.ของธนาคารไทยพาณิชย์มีการออกหุ้นเพิ่มทุนหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้เงิน โดยแนวโน้มการออกหุ้นเพิ่มทุนในไตรมาส 4 ปี 2564  ยังมีอีกหลายบริษัท แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1. การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจหรือซื้อกิจการ โดยลูกค้าต้องการปรับฐานทุนให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการกู้หนี้

2. การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อลดภาระหนี้ เพราะการที่บริษัทมีภาระหนี้สูงอาจส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) และอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลทำให้บริษัทไม่สามารถกู้หนี้เพิ่ม หรือไม่สามารถใช้เครื่องมือระดมทุน เช่น การออกหุ้นกู้ เป็นต้น

3. การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) โดยปัจจุบันมีลูกค้าหลายรายเข้ามาขอคำปรึกษา และคาดว่าภายหลังรัฐบาลประกาศแผนเปิดประเทศชัดเจนจะเห็นการขยายธุรกิจของบจ.มากขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการวาณิชธนกิจ กล่าวว่า คาดมูลค่าการเพิ่มทุนของบจ.ปีนี้จะสูงกว่าปี 2563 เพราะ 9 เดือนปี 2564 มีมูลค่าการออกหุ้นเพิ่มทุนแล้ว 84,019 ล้านบาท ซึ่งเกือบใกล้เคียงกับปี 2563 ที่ 93,206 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีบจ.ประกาศเพิ่มทุนอยู่หลายบริษัท ซึ่งมองว่าจะเป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19