ไอพีโอ ‘เฮงลิสซิ่ง’เปิดเกมขยายลูกค้า ดันพอร์ตสินเชื่อ1.48หมื่นล้าน

ไอพีโอ ‘เฮงลิสซิ่ง’เปิดเกมขยายลูกค้า ดันพอร์ตสินเชื่อ1.48หมื่นล้าน

วิกฤติโควิดส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องขยายตัว อุตสาฯที่ได้รับปัจจัยบวกดังกล่าวต้องยกให้ “ธุรกิจให้บริการด้านสินเชื่อบุคคล”ส่งผลบวกต่อหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ " เฮงลิสซิ่งแอนด์แคปปิตอล " (HENG) ผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ

โดยเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 800,837,300 หุ้นในราคาหุ้นละ 1.95 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาท เข้าซื้อขาย (เทรด) วันแรก19 ต.ค. 2564

ณ ปัจจุบัน HENG เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินซึ่งให้บริการ1. สินเชื่อเช่าซื้อ 2. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 3. สินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน 4.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 5. สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) และ 6.นายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ให้แก่ลูกค้ารายย่อยทั่วไป 

“สุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่งแอนด์แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ธุรกิจของบริษัทยังมีช่องทางการเติบโตอีกมาก... ฉะนั้น ภารกิจแรกที่ต้องทำ นั่นคือ อยากผลักดันบริษัทเข้ามานำระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากต้องการต่อยอดธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตโดดเด่นในอนาคต ซึ่งแผนการระดมทุนคือ “ธงผืนใหญ่”เธอบอกเช่นนั้น !!

การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น ! ช่วยปลดล็อกการเติบโต สะท้อนผ่านแผนธุรกิจ 3 ปี (2564-2566) เตรียมนำเงินระดมทุนไปขยายธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ ขยายสาขา เพื่อขยายธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้เติบโตตามแผนโตปีละ 28%หรือ ในปี 2566 พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 14,800 ล้านบาทจากปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8,420 ล้านบาท ประกอบด้วย “สินเชื่อที่มีหลักประกัน”จำนวน 7,901.9 ล้านบาท และ “สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน”จำนวน 517.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 93.8% และ 6.2% ของมูลค่าลูกหนี้รวมของบริษัท ตามลำดับ

พร้อมทั้งการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 830 สาขา คาดใช้เงิน 2 แสนบาทต่อสาขาจากปัจจุบันบริษัทมีสาขาจำนวน 451 สาขา เพื่อครอบคลุมฐานลูกค้ารายใหม่ ๆ และช่วยสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมตามเป้าหมาย อีกส่วนหนึ่งชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนจากสถาบันการเงิน ลดภาระหนี้เพื่อลดต้นทุน และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Software และ Mobile Application

“ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของ HENG ที่จะช่วยเสริมศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน เรานำความเชี่ยวชาญของ 4 กลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี มารวมกันจึงสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน”

เธอ บอกต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมี“หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL)อยู่ที่ระดับ 3.7% ซึ่งคาดในปี 2566บริษัทจะคุม NPL ไม่เกิน 2.9% โดยสัดส่วนสินเชื่อทะเบียนรถจะเพิ่มเป็น 48% จากปัจจุบัน 27%

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายในการอขยายการให้บริการไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ครอบคลุม ทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน พร้อมทีมพนักงาน “เฮงลิสซิ่ง”ที่คัดเลือกคนในพื้นที่สาขาให้บริการ ซึ่งเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น ทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยบริษัทมีรายได้จากดอกเบี้ย (ปี 2561-2563) อยู่ที่ 1,239 ล้านบาท 1,557 ล้านบาท และ 1,450 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน เป็นพอร์ตทรายได้หลัก ขณะที่กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 44.6% ต่อปี อยู่ที่ 152 ล้านบาท 189 ล้านบาท และ 318 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 1.5 เท่า ยังสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาเพิ่มได้ ต้นทุนก็ต่ำลง

ส่วนผลการดำเนินงวด 6 เดือน ปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีการปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อประจำปีทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมสุทธิก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ/ ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คิดคาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากปี 2563 เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บริษัทจึงตั้งค่าเผื่อเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการ (Management Overlay) เพื่อรองรับปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อในอนาคต

ท้ายสุด “สุธารทิพย์”ทิ้งท้ายไว้ว่า เรามีแผนเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น ผ่านการลงทุนในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้าน Software และ Mobile Application เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการ ควบคู่กับการขยายสาขาของเฮงลิสซิ่งในภูมิภาคต่าง ๆ ไปด้วย