‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซีอีโอสาย Call out “คิดเร็ว ทำเร็ว” เคลื่อนแสนสิริ ด้วย Speed

‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซีอีโอสาย Call out  “คิดเร็ว ทำเร็ว” เคลื่อนแสนสิริ ด้วย Speed

“เศรษฐา ทวีสิน” ซีอีโอสาย Call out!! ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ “แสนสิริ” รั้ง “ท็อปทรี” ของตลาดที่อยู่อาศัย ที่สามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

ในวงการอสังหาริมทรัพย์ “แสนสิริ”  ถือเป็นแบรนด์ลักชัวรีที่มีบทบาทและสร้างสีสันให้กับตลาดและสิ่งหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์แสนสิริมาโดยตลอดคือ “เศรษฐา ทวีสิน” เพราะความน่าเชื่อถือของ ซีอีโอ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยยกระดับแบรนด์และสร้างอิมแพคให้กับองค์กรโดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อกระแสหลัก! อย่าง Twitter ที่สามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ หลายครั้งที่เขาทวีตแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็เรียกเสียงเชียร์จากคนรุ่นใหม่ได้ จนกลายเป็นไอดอลที่พวกเขาอยากทำงานด้วย

บทบาทซีอีโอของ “เศรษฐา ทวีสิน” เผชิญวิกฤติประเทศไทยมาหลายยุคหลายสมัย! สั่งสมบทเรียน และประสบการณ์ นำสู่การพลิกเกมในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ

ในปี 2539 หลังนำพา “แสนสิริ” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ตามเป้าหมาย จากนั้น ประเทศไทยเผชิญ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำอย่างหนัก "ภาระดอกเบี้ยเงินกู้" กลายเป็น ปัญหาใหญ่ของแสนสิริ ในห้วงเวลานั้น เศรษฐา ได้ตัดสินใจ ขายขาดทุนด้วยการลดราคากว่า50% เพื่อปลดภาระหนี้เรียกว่า ช็อกวงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย กันเลยทีเดียว และแล้วก็สามารถผ่านวิกฤติครั้งนั้นมาได้

กระทั่งล่าสุด เมื่อต้นปี 2563 เกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ขึ้นทั่วโลก ซึ่งรุนแรงกว่าครั้งต้มยำกุ้ง ปี 2540 “เศรษฐา ทวีสิน” ใช้กลยุทธ์ในการสร้างความรวดเร็วและว่องไว หรือ Speed to Market Strategy ในการรับมือโควิด  ถือเป็นเจ้าแรกในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่กล้าตัดสินใจยอมขายบ้านในราคาเท่าทุน หรือยอมขาดทุน รวมทั้งการอัดแคมเปญ “แสนสิริผ่อนให้”  ที่ผ่อนให้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดถึง 24 เดือน เพื่อกระตุ้นลูกค้าให้กล้าตัดสินใจซื้อ 
 

ด้วยการเปลี่ยนความกลัวของลูกค้าให้เป็น “โอกาส” หลักคิดง่าย ๆ แบบตรงใจ!  ผลลัพท์ คือ ยอดโอนทะลุ 45,000 ล้านบาท แข็งแกร่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 36 ปี

เศรษฐา ระบุว่า ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่แข็งแกร่งของแสนสิริ เป็นประวัติการณ์ในรอบ 36 ปีของการทำธุรกิจหลังจากได้ผ่านวิกฤติมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งก็มีความระมัดระวังในการทำธุรกิจมากขึ้น

“ในทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาสเสมอ ถ้าเราแข็งแกร่งพอ มองเห็นโอกาสและสามารถฉกฉวยโอกาสนั้นได้” เป็นประสบการณ์ที่เขาได้ เป็นสิ่งที่เรียนรู้มาจากวิกฤตปี’ 40 และใช้มาตลอด 

‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซีอีโอสาย Call out  “คิดเร็ว ทำเร็ว” เคลื่อนแสนสิริ ด้วย Speed
 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามความท้าทายใหม่ที่จะต้องเจอหลังจากนี้  นั่นคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นภาพของ “K-Shaped” โดยที่กลุ่มคนรวยจะอยู่ในส่วนของ “K ขาขึ้น” คนรวย-รวยมากขึ้น ส่วน “K ขาลง” จะอยู่ในแรงงานระดับล่างที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนช่องว่างของความเลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย เป็นภาพใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากนี้หลังเกิดโควิด

และผลจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

“หลังจากเกิดโควิดพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป รวมทั้งมุมมองในชีวิตจะเปลี่ยนไปจากเดิมทำงาน 3-5 ทุ่ม 5 โมงเย็นกลับบ้านเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วิธีการทำงานอาจจะเปลี่ยนไป การตัดสินใจเร็วขึ้น เพราะประสบการณ์ทำงานเยอะขึ้น ”

เศรษฐา กล่าวว่า ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ จะต้องล้อไปกับเศรษฐกิจโดยรวมหากเศรษฐกิจดี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็จะดีตามไปด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การตัดสินใจทางธุรกิจยากขึ้น แต่ถ้ามีกระแสเงินสด (cash flow) ในมือ อย่างแสนสิริ สามารถสร้างบ้านเตรียมรองรับดีมานด์ที่กลับเข้ามาได้เลย 

ขณะเดียวกันในแง่ของการออกแบบบ้าน เชื่อว่า ทุกอย่างเหมือนเดิมไม่ได้หวือหวา ตามกระแสที่ระบุว่าหลังโควิดผู้บริโภคต้องการสัดส่วนของห้องขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับการทำงาน รวมถึงการใช้เวลาร่วมกันกับครอบครัว

“ผมว่า ไม่จริงหรอกที่ว่าต้องมีพื้นที่ส่วนตัวของลูก สามี ภรรยา เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นเขาจะเอาตังค์มาจากไหน ในทางกลับกัน ทุกอย่างเล็กลง ด้วยซ้ำ เพราะกำลังซื้อลดลง”

สอดคล้องแนวทางการขยายฐานลูกค้าของแสนสิริ ด้วยการเปิดตัวโครงการในราคาที่จับต้องได้มากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบ้านของคนทุกกลุ่ม ครอบคลุมในทุกๆ เซ็กเมนต์ ที่เป็นเรียลดีมานด์ เริ่มจาก แบรนด์ “เดอะมูฟ” (MUVE) เริ่มต้น 1.29 ล้านบาท โครงการแรกเดอะ มูฟ เกษตร, เดอะ มูฟ ราม 22, เดอะ มูฟ บางนา, เดอะ มูฟ ประดิพัทธิ์ และ เดอะ มูฟ บางแค ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ล่าสุดเตรียมเปิดตัวคอนโดแบรนด์ “มี”(ME) ราคาต่ำล้านย่านนวนคร ออกมาในแหล่งงาน

‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซีอีโอสาย Call out  “คิดเร็ว ทำเร็ว” เคลื่อนแสนสิริ ด้วย Speed

“คอนเซ็ปต์ที่อยู่อาศัยที่จะมาคือต้อง affordable มากขึ้นในแต่ละเซ็กเมนต์ ไม่ว่าะเป็น ของที่ให้ ฟังก์ชั่นที่ให้ ต้องโดนใจและเป็นประโยชน์ในการใช้งานได้จริงออกมาตอบโจทย์ผู้ซื้อ”

‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซีอีโอสาย Call out  “คิดเร็ว ทำเร็ว” เคลื่อนแสนสิริ ด้วย Speed

เศรษฐา เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ “เป็นคน คิดเร็ว ทำเร็ว” Speed to Market จึงเป็นกลยุทธ์หลักในการทำธุรกิจของแสนสิริ เพราะยิ่งปรับตัวเร็วทันต่อสถานการณ์มากเท่าไร นั่นหมายถึง โอกาส เท่านั้น

“เราต้องยอมรับความจริงว่า นิวนอร์มอล ในการทำธุรกิจจากนี้มีหลายอย่างเปลี่ยนไปทั้งพฤติกรรมของลูกค้า รูปแบบการเงินแบบใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้น”

จึงเป็นที่มาของการขยายการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นมากขึ้นด้วยการเข้าถือหุ้น 15% ใน “เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล” ด้วยเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2% ของสินทรัพย์แสนสิริ มูลค่า 110,0000 ล้านบาทในปัจจุบัน

‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซีอีโอสาย Call out  “คิดเร็ว ทำเร็ว” เคลื่อนแสนสิริ ด้วย Speed

การลงทุนดิจิทัลไฟแนนซ์ครั้งนี้ ถือเป็น “นิวเอสเคิร์ฟ” ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับแสนสิริในระยะยาว ที่มาพร้อมการสร้างรายได้ประจำให้แสนสิริ และส่วนหนึ่งในการเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์ เพราะโลกเปลี่ยนไปต้องตามโลกให้ทันเพื่อต่อจิ๊กซอว์ในอนาคตในการสร้าง “New Cash Cows” หรือ “New S-Curve” ให้กับธุรกิจ

ทั้งนี้ เนื่องจากสังคมปัจจุบันความเท่าเทียมและการเข้าถึงได้เป็นสิ่งที่สำคัญ และธุรกรรมด้านดิจิทัลเหล่านี้เป็นไลฟ์สไต์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความเท่าเทียม ต้องการการเข้าถึงได้ สอดรับกับปรัชญาการดําเนินธุรกิจของแสนสิริ มุ่งทำบ้านหลากหลายระดับราคาเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ตั้งแต่ 1 ล้านบาท จนถึง 400 ล้านบาท รองรับคนที่มีรายได้ระดับฐานรากจนถึงรวยสุด  

เป็นแนวทางการขยายฐานลูกค้าของแสนสิริ จากยอดพีระมิดสู่กลุ่มฐานล่างของพีระมิด ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ!!  

แม้จะต้องลดราคาขายต่อหน่วยลง แต่ไม่ถึงกับต้องขาดทุน เพราะอาศัยจำนวนหน่วยในการขายที่ทำได้มาก ทำให้เกิด ”กำไร” โดยรวมขึ้นในระดับที่ทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวต่อไปได้อย่างมั่นคงในระยะยาว