“ราคาน้ำมัน” พุ่ง ฉุดไทยเสี่ยงภาวะ “Stagflation” เศรษฐกิจถดถอย แต่เงินเฟ้อ

“ราคาน้ำมัน” พุ่ง ฉุดไทยเสี่ยงภาวะ “Stagflation” เศรษฐกิจถดถอย แต่เงินเฟ้อ

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ก.ย. 64) “ราคาน้ำมัน” ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วยกันถึง 6 ครั้ง ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยสูงตามไปด้วย ถึงกระนั้นเศรษฐกิจก็ยังไม่ได้กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่  จึงกลายเป็นสถานการณ์ที่อาจผลักไทยให้เผชิญกับภาวะ “Stagflation” 

  •   “Stagflation” คืออะไร? มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร?  

“Stagflation” คือ ศัพท์ที่รวมกันระหว่าง “Stagnation” ที่หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหดตัว และ “Inflation” หมายถึง เงินเฟ้อหรือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นภาวะการเพิ่มขึ้นของระดับสินค้าและบริการ ดังนั้น Stagflation จึงเป็นการรวมสถานการณ์ทั้งสอง นั่นคือ การเกิดภาวะเงินเฟ้อในขณะที่เศรษฐกิจยังคงมีความชะลอตัว 

เรื่องที่น่ากังวลของภาวะดังกล่าว คือ การแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายทางการเงินจะทำได้ยากมากยิ่งขึ้น 

โดยปกติแล้วหากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารกลางจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อให้ต้นทุนในการใช้เงินของผู้คนนั้นลดต่ำลง กระตุ้นการใช้จ่ายในเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะฟิ้นคืนกลับมาจากภาวะชะลอตัว

ในทางตรงข้าม เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ผู้คนเผชิญกับสภาวการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริกาารเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นในการดำรงชีวิต หรือที่เราเข้าใจกันได้ว่า “ค่าครองชีพสูง” ซึ่งภาวะดังกล่าวจะสังเกตได้จาก “อัตราเงินเฟ้อ” หากเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสม หรืออยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลาง ก็จะบอกถึงสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตที่ดี แต่หากเพิ่มขึ้นมากจนเกินไป ก็จะเกิดเป็นปัญหาขึ้นในระบบเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อทำได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ต้นทุนการใช้เงินของผู้คนสูงขึ้น ซึ่งเป็นการชะลอการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงจนเกิดความไม่สมดุล

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะเงินเฟ้อ มักจะเป็นวิธีการที่ให้ผลในทิศทางตรงข้ามกัน ฉะนั้นจึงเป็นเหตุที่ว่า เมื่อเกิด “Stagflation” ขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ จะไม่สามารถใช้การแก้ปัญหาในรูปแบบสำเร็จที่เคยใช้กันตามปกติได้  

  •   เงื่อนไขที่เอื้อต่อภาวะ “Stagflation” ในปัจจุบัน  

ปัจจุบัน ไทยเจอกับการปรับตัวขึ้นของ “ราคาน้ำมัน” ถึง 6 ครั้งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ก.ย. 64) ซึ่งน้ำมันเป็น “สินค้าพลังงาน” ที่ถูกคำนวณในการคิดอัตราเงินเฟ้อ และยังเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย การขึ้นของราคาน้ำมันจึงส่งผลกระทบต่อผู้คนในระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง 

แท้จริงแล้วการปรับเพิ่มของราคาน้ำมันเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน พุ่งขึ้น 4.2% (YoY) สูงสุดในรอบ 8 ปี  อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่ายังคงไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากนัก เพราะตัวเลขดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบกับปีก่อน ที่ดัชนีราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่ต่ำมาก  นอกจากนั้นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังเกิดจากต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ความต้องการในสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นของคนไทย 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่ประเทศทั่วโลกกำลังทยอยฟื้นตัวจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจเรื่มกลับมาติดเครื่องเดินอย่างเต็มที่ ทำให้ความต้องการในสินค้าและบริการ ที่รวมถึงน้ำมันที่มากขึ้น จึงดันให้ราคาทั้งหมดสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้ ทำให้ไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

สอดคล้องกับหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs)  ที่เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ เช่น รัฐเซีย บราซิล ชิลี เปรู ปารากวัย ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก และปากีสถาน โดยหลายประเทศได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาสูงขึ้น เศรษฐกิจจึงกลับมาขยายตัวได้อย่างร้อนแรง 

นอกจากนั้น เกาหลีใต้ ประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤติฯ ด้วยการกระจายการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง มีประชากรได้รับวัคซีนครบสองเข็ม 27 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 52.2% ของประชากรทั้งหมด ประกอบการส่งออกสินค้าที่มีการเติบโตดี เป็นเหตุให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินเป้า 2% มาต่อเนื่องหลายเดือน และเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากความไม่สมดุลในภาคเศรษฐกิจและการเงิน จึงมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.75% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

สังเกตได้ว่า โดยภาพรวมทางเศรษฐกิจโลกกำลังจะเจอกับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วจะยังทำการติดตามทิศทางของอัตราเงินเฟ้ออยู่ และประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกยังไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่หลายประเทศในกลุ่ม EMs ก็ได้ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นกันด้วยเหตุผลที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศตนกันไปก่อนแล้ว 

 

  •   เศรษฐกิจไทยกับภาวะ “Stagflation”  

เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติฯ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะหดตัว ประกอบกับสถานการณ์ของวิกฤติฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน จึงทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงยังไม่ใช่ทางออกสำหรับเศรษฐกิจไทย 

การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในปัจจุบันถือว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เนื่องด้วยประเทศไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวจากวิกฤติฯ อย่างเต็มที่เท่าหลายประเทศในโลก จึงทำให้ไทยต้องเผชิญกับสองสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งกัน คือ ระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งหากความขัดแย้งดังกล่าวมีความชัดเจนและรุนแรงมากขึ้น จะมีผลให้ไทยมีแนวโน้มตกอยู่ในภาวะ Stagflation ในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ถือว่าตกอยู่ในภาวะ Stagflation เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ของปีนี้ยังอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย

ถึงอย่างนั้น เศรษฐกิจไทยที่เป็น ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด การขยับตัวทางนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ในโลกล้วนส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินไทยไม่มากก็น้อย ความแตกต่างของจังหวะนโยบายการเงิน (Policy divergence) ในโลก จึงอาจมีผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ค่าเงิน และตลาดการเงินไทย รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่จะเป็นกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ 

ดังนั้น ความเคลื่อนไหวในเศรษฐกิจระดับโลก และการดำเนินนโยบายทางการเงินของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้  จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจว่าจะมีการสอดประสานกันอย่างไร ส่วนไทยจะสามารถเอาตัวรอดจากภาวะ Stagflation ได้จริงหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป 


 

อ้างอิง

เจาะสาเหตุ "ราคาน้ำมันในประเทศ" พุ่งไม่หยุด - PPTV Online 

​วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น...เหตุไฉนกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มก่อน? - ฐิติมา ชูเชิด

เศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Stagflation รายได้ลด แต่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ - ศรัณย์ กิจวศิน 

สรุปประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในรายงานนโยบายการเงิน กันยายน 2564 - ธนาคารแห่งประเทศไทย

หรือประเทศไทยกำลังจะเกิดภาวะ "Stagflation" ? - Money Buffalo 

Coronavirus (COVID-19) Vaccinations - Our World in Data

Stagnation - Investopedia