"ไทยไลอ้อนแอร์" รีสตาร์ทธุรกิจ เตรียมพร้อมฝูงบินรับเปิดประเทศ

"ไทยไลอ้อนแอร์" รีสตาร์ทธุรกิจ เตรียมพร้อมฝูงบินรับเปิดประเทศ

เมื่อคลื่นยักษ์โควิด-19 ถาโถมธุรกิจ “สายการบิน” อย่างหนักหน่วงยาวนานเกือบ 2 ปี ทำให้ “ไทยไลอ้อนแอร์” จำเป็นต้อง “ดาวน์ไซส์” หรือลดขนาดธุรกิจลง ด้วยการบีบต้นทุน รัดเข็มขัดฝ่าความเหนื่อยยากเพื่อรักษาตัวให้รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้

แต่เมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณ “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง ด้วยการประกาศนำร่องเปิดพื้นที่ที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวเพิ่มเติมอีก 10 จังหวัดรวม “กรุงเทพฯ” ภายในเดือน พ.ย.นี้ หลังจากหดตัวให้เล็กมาสักพักใหญ่ ก็ถึงคราวที่ไทยไลอ้อนแอร์จะเดินกลยุทธ์กลับมาสยายปีกขยายฝูงบินอีกหน

อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า มั่นใจว่าธุรกิจของ ไทยไลอ้อนแอร์ จะยังเดินต่อไปได้!! ล่าสุดได้ขยายฝูงบิน รับมอบเครื่องบินใหม่ แอร์บัส A330neo ความจุ 436 ที่นั่ง จำนวน 2 ลำ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศสู่พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวหรือ “แซนด์บ็อกซ์” ในไทยรับแผนเปิดประเทศ ทำให้ปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์มีฝูงบินรวม 10 ลำ และเตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่ โบอิ้ง 737 ความจุประมาณ 200 ที่นั่ง อีก 2 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้ไทยไลอ้อนแอร์จะมีฝูงบินรวม 12 ลำ

ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ไทยไลอ้อนแอร์มีสัดส่วนผู้โดยสารจากเที่ยวบินระหว่างประเทศมากถึง 60% ของเที่ยวบินทั้งหมด หากรัฐบาลไทยเจรจากับประเทศเป้าหมายสำเร็จ เช่น อินเดีย ทางไทยไลอ้อนแอร์ก็พร้อมประสานกับคู่ค้าและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อ “รีสตาร์ทธุรกิจ” อีกครั้ง หลังวิกฤติโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศนานกว่า 18 เดือน และนอกจากอินเดียแล้ว ยังมีอีกหลายตลาดที่ส่งสัญญาณต้องการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศ (Reconnect) กับไทยอีกครั้ง เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน

ขณะที่ประเทศจีน ปัจจุบันทางการจีนยังไม่มีนโยบายอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศในเร็วๆ นี้ คงต้องรอลุ้นในช่วงกลางปี 2565 ว่าจะเริ่มส่งสัญญาณให้ชาวจีนเดินทางเที่ยวต่างประเทศได้หรือไม่ โดยในภาวะปกติตลาดผู้โดยสารชาวจีนถือเป็น “เสาหลัก” ที่ช่วยสร้างรายได้แก่ไทยไลอ้อนแอร์ ด้วยสัดส่วนกว่า 60% ของผู้โดยสารทั้งหมดของไทยไลอ้อนแอร์

“อย่างไรก็ตามเราต้องการความชัดเจนจากรัฐเรื่องการเปิดประเทศมากกว่านี้ ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะอาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจ นอกจากนี้ต้องการให้ออกมาตรการอย่างรอบคอบและเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกันต้องเป็นเงื่อนไขที่ไม่ยุ่งยากมากจนเกินไป เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเองก็ถือว่าได้ฉีดวัคซีนครบโดสก่อนเดินทางมาเที่ยวไทยแล้ว

นันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวเสริมว่า การเปิดประเทศเป็นการตัดสินใจ “ยอมรับความเสี่ยง” บนพื้นฐานการรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุข แต่ถ้ายุ่งยากมากเกินไป ก็อาจจะแปลว่าเรายังไม่สามารถจัดการได้ดีพอในแง่การยอมรับความเสี่ยง!

เพราะฉะนั้นต้องมีการสกรีนมาก่อนว่ามีนักท่องเที่ยวประเทศไหนบ้างที่ภาครัฐคิดว่าเหมาะสม สามารถอนุญาตให้เดินทางเข้าไทยได้ ถ้าเกิดสกรีนแล้วในระดับหนึ่ง เมื่อถึงขั้นตอนที่นักท่องเที่ยวจากประเทศนั้นๆ เดินทางเข้าไทยแล้ว อาจผ่อนปรนขั้นตอนต่างๆ เช่น การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีที่ง่ายขึ้นตามความเหมาะสม

และในช่วงที่ยังไม่สามารถกลับไปให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศได้เหมือนปกติ ไทยไลอ้อนแอร์จำเป็นต้องพึ่งตลาด “เส้นทางบินในประเทศ” หลังรัฐบาลประกาศคลายล็อกการเดินทางภายเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยสายการบินต่างๆ ยังไม่ได้โหมกลับมาเพิ่มเที่ยวบิน เพราะยังต้องจับตาดูดีมานด์ ไทยไลอ้อนแอร์ก็เช่นกัน ปัจจุบันกลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่จุดหมายต่างๆ 13 เส้นทาง ด้วยความถี่เที่ยวบินรวม 30 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็น 50% เมื่อเทียบกับก่อนเจอโควิด-19 ส่วนอีก 2 เส้นทางบินข้ามภาค ได้แก่ หาดใหญ่-อุดรธานี และอู่ตะเภา-เชียงใหม่ เตรียมกลับมาให้บริการภายในไตรมาส 4 นี้

ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนโค้งท้าย ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ตลาดจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ไทยไลอ้อนแอร์คาดมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) ที่ 70-75% แต่อาจจะยังไม่พีคเท่าเดือน พ.ย.-ธ.ค.2563 ซึ่งมีกระแสการเดินทางเริ่มคึกคักตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 เพราะปัจจุบันยังติดข้อจำกัดด้านการเดินทางเข้าจังหวัดต่างๆ “ต่างจังหวัด ต่างมาตรการ” ทำให้ผู้โดยสารชาวไทยอาจเกิดความสับสน

“จริงๆ ตอนนี้คนไทยเริ่มอัดอั้น เริ่มกล้าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพราะได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นแล้ว แต่กระแสการเดินทางยังไม่แรงเท่า 2 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว เพราะติดข้อจำกัดมาตรการเข้าเมืองต่างๆ อยู่ จึงยังไม่เห็นกระแสการเดินทางอย่างคึกคักในตอนนี้ อย่างไรก็ตามค่อนข้างกังวลว่าจะเกิดโควิด-19 ระลอก 5 หลังเทศกาลปีใหม่! จึงเป็นจุดที่ต้องช่วยกันระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานตลอดปีนี้ ไทยไลอ้อนแอร์คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดผู้โดยสาร 10 ล้านคนต่อปีในภาวะปกติ ทำให้ในช่วงนี้ธุรกิจต้องเน้นปรับตัวตามเทรนด์และนโยบายของภาครัฐอย่างทันท่วงที

“ตราบใดที่ยังทำการบินได้ ก็แปลว่ายังมีโอกาสเสมอ อาจจะไม่ได้ร่ำรวยเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 แต่อย่างน้อยก็ได้เงินมาหมุนเวียนธุรกิจ ส่วนยุคทองของสายการบินจะกลับมาเมื่อไรนั้น มีปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งเรื่องการกระจายวัคซีนและนโยบายการเปิดประเทศของประเทศต่างๆ”

โดยจากคาดการณ์ของ “สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ” (IATA) ระบุว่าธุรกิจสายการบินจะเริ่มกลับดีเป็นปกติในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือในปี 2566 ไทยไลอ้อนแอร์เองก็หวังว่าจะเป็นจริงตามคาดการณ์ดังกล่าว!