บลจ.วรรณ ลดค่าธรรมเนียม 3 กองทุนเด่น หนุนลงทุนกลาง - ยาว ลดความผันผวนของพอร์ต

บลจ.วรรณ ลดค่าธรรมเนียม 3 กองทุนเด่น  หนุนลงทุนกลาง - ยาว ลดความผันผวนของพอร์ต

บลจ.วรรณ  ชี้ ระยะสั้นตลาดหุ้นโลก ยังเผชิญความผันผวน ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ยังมีความเสี่ยงหลังเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown มองเป้าดัชนีปีนี้ 1,665 จุด พร้อมลดค่าธรรมเนียม 3กองทุน เริ่ม 10 ต.ค.- 31ธ.ค.เพื่อสนับสนุนการลงทุน

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด(บลจ.วรรณ) เปิดเผยว่า งตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม นี้ บริษัทได้พิจารณาลดค่าธรรมเนียมกองทุน Flagship ของบริษัท 3 กองทุนที่ลงทุนในกองทุนหลัก Baillie Gifford Long-term Global Growth ได้แก่ กองทุนเปิดวรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ (ONE-UGG) กองทุนเปิดวรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ หน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออม แบบไม่จ่ายเงินปันผล (ONE-UGG-SSF) และกองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (ONE-UGERMF) 

สำหรับเป็นทางเลือกในการกระจายการลงทุนไปตลาดหุ้นต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะข้างหน้า ไปกับหุ้นที่มีการเติบโตโดดเด่นและเป็นผู้นำในธุรกิจระดับโลก ซึ่งบริษัทมองว่า ธุรกิจที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเจอความผันผวนของตลาดในระยะสั้น โดยกองทุนทั้ง 3 กองทุนของบริษัท เหมาะสำหรับนักลงทุนที่สนใจสามารถถือลงทุนในระยะปานกลาง ถึง ยาว รวมถึงนักลงทุนที่สนใจลงทุนเพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนทางภาษี

ภาพรวมการลงทุนในช่วงนี้ ความเคลื่อนไหวด้านนโยบายทางการเงินเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะสั้น จากต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการลงทุนระยะกลาง-ยาวน้อยมาก โดยเฉพาะกับธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันและตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้คนและรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้โดดเด่นได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาพเศรษฐกิจที่ได้ทยอยกลับสู่ภาวะปกติ

 

 

 

“ จากข้อมูลสถิติในอดีตพบว่า การหยุดทำ QE ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงอยู่ในกรอบประมาณลบ 7-20% โดยจะใช้เวลาเพียง 2-5 เดือนในการฟื้นตัว นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พบว่าในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ดัชนี S&P500 มีผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตอยู่ที่ประมาณ 15-20% และมีเพียงแค่ 3 ครั้ง (จาก 13 ครั้งที่มีดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นนับตั้งแต่ปี 1960) ที่ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนเป็นลบ ซึ่งคิดเป็นโอกาสที่ตลาดหุ้นติดลบในช่วงดอกเบี้ยขึ้นเพียงแค่ประมาณ 23% อย่างไรก็ดี มองว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินในระยะข้างหน้านี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ากังวลสำหรับการลงทุนระยะกลาง-ยาว ” 

จากการคาดการณ์ข้างต้น บริษัทยังคงแนะนำให้ลงทุนในระยะปานกลาง - ยาว  โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) แบบนี้ โดยมองว่าหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth stocks) ยังคงความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะกลาง-ยาว จากแนวโน้มการเติบโตของรายได้และศักยภาพการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง โดยนักวิเคราะห์คาด EPS growth ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในดัชนี S&P500 ยังสามารถสร้างการเติบโตได้โดดเด่นที่สุดประมาณ 25.3% ในปีนี้และ 24.1% ในปีหน้า(2565)

ในส่วนของมุมมองต่อสถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทมองว่า ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวในกรอบ เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วแต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์แพร่ระบาด Covid-19 สายพันธุ์เดลตาและ/หรือสายพันธุ์ใหม่ๆ หลังรัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายการ Lockdown โดยหากตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะต้องใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง การจัดการการระบาดถือเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยหนุนความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และหนุน Sentiment การลงทุนในระยะข้างหน้า เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยมีรายได้ที่ต้องพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบออฟไลน์ หรือเรียกว่าหุ้นประเภท Old Economy ดังนั้นมองไปข้างหน้าปัจจัยความสำเร็จขึ้นอยู่กับ ปัจจัยเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงได้อย่างเพียงพอกับจำนวนประชากรโดยเร็ว และ ความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนให้กับประชากรทั้งประเทศ เพราะหากล่าช้าจะทำให้โอกาสเปิดเมือง (Reopening) และเปิดประเทศอีกครั้งเป็นไปได้ยาก หรือหากรีบเปิดแต่ผู้ติดเชื้อกลับมาสูงอีกก็จำเป็นต้อง Lockdown อีกรอบ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยภาคการส่งออกสินค้าเพียงเท่านั้น ภาคบริการยังคงหยุดชะงัก  ทั้งนี้ บริษัทคงเป้าหมายดัชนี SET Index ที่ 1,665 จุด และเน้นสะสมเมื่อราคาหุ้นย่อตัวลง