IIoT เทคโนโลยีพลิกโฉม โรงงานอุตสาหกรรมใน EEC

IIoT เทคโนโลยีพลิกโฉม  โรงงานอุตสาหกรรมใน EEC

“Industrial Internet of Things (IIoT)” เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่กำลังเข้ามาพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมยุค 4.0 จากคุณสมบัติเด่นที่เชื่อมโลก Physical และโลก Cyber ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ความสามารถติดตามการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ได้แบบ Real time ตลอดจนต่อยอดสู่การควบคุมคุณภาพการผลิต และบ่งชี้แนวโน้มการบำรุงรักษาเครื่องจักรล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของโรงงาน โดยผลการศึกษาของ Deloitte ชี้ว่าการดูแลเครื่องจักรที่ไม่เหมาะสมจะลดทอนกำลังการผลิตของโรงงานลง 5%-20% นอกจากนั้น IIoT ยังจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะต้นทุนในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมไทย มีมูลค่าสูงถึง 2.06 แสนล้านบาทต่อปี และท้ายที่สุด IIoT จะช่วยปูทางไปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะอย่างเต็มขั้นมากขึ้น

ภาคการผลิตทั่วโลกกำลังนำ IIoT มาผนวกในโรงงาน สอดคล้องกับงานวิจัยของ McKinsey ที่ประเมินว่า IIoT ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 12% ภายในช่วงปี 2020-2025 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุน Sensor และ Data storage ที่ถูกลง รวมถึงระบบการสื่อสารที่ดีขึ้นจากสัญญาณ 5G โดยตัวอย่าง Success case ในต่างประเทศ เช่น VOLKSWAGEN ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก ที่ได้ใช้ IIoT & Cloud ในกระบวนการผลิต โดยเชื่อมต่อโรงงานกว่า 124 แห่งทั่วโลกให้อยู่บน Platform เดียวกัน พิสูจน์ให้เห็นว่าต้นทุนโรงงานลดลงมากถึง 30% และปัจจัยสำคัญล่าสุด คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เผยให้เห็นความสำคัญของ IIoT โดยเฉพาะในมิติการเพิ่มความยืดหยุ่นที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องท่ามกลางภาวะห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply chain disruption)

EEC เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่ภาคอุตสาหกรรมไทยควรเร่งนำ IIoT มาใช้ในโรงงานมากขึ้น เนื่องจากจำนวนโรงงานในพื้นที่ที่มีมากถึง 9,906 โรงงาน หรือคิดเป็น 14% ของจำนวนโรงงานทั้งประเทศ ประกอบกับปัจจุบันนี้มีสัญญาณเครือข่าย 5G ครอบคลุมแล้วกว่า 95% ของพื้นที่ทั้งหมด โดย Krungthai COMPASS มองว่าธุรกิจที่อิงกับการส่งออก ซึ่งมีความพร้อมเพราะฟื้นตัวจากโควิด-19 ค่อนข้างเร็ว ตามมูลค่าการค้าโลกที่ IMF คาดว่าปี 2021 นี้และปีหน้าจะเติบโต 9.7% และ 7.0% ตามลำดับ ควรเริ่มนำ IIoT มาประยุกต์ใช้ เช่น ธุรกิจผักผลไม้และไก่แปรรูป อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การใช้ IIoT และก้าวสู่ Industry 4.0 อย่างแท้จริง ยังมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย ดังเสียงสะท้อนจากผลสำรวจบริษัทต่างๆ ทั่วโลกของ McKinsey ที่พบว่าบริษัทเหล่านี้กำลังเผชิญ 3 อุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) ปัญหาด้านเงินทุน 2) ข้อจำกัดด้านความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยี และ 3) การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะที่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อคลายล็อกข้อจำกัดเหล่านี้ ภาครัฐไทยจึงควรพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อใช้สำหรับมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยใช้ IIoT มากขึ้น พร้อมทั้งช่วยพัฒนาทักษะแรงงานไทยไปด้วย เช่น มอบ Voucher เพื่อ Up & Re-skill ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อ IIoT โดยเฉพาะ Digital infrastructure และความพร้อมของ System integrator สัญชาติไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวอีกด้วย

บทความโดย ณัฐพร ศรีทอง

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย