บอร์ดอีอีซี ไฟเขียว สัญญาแหลมฉบังฯ เฟส 3 จ่อเซ็นสัญญาเอกชนเดือนนี้

บอร์ดอีอีซี ไฟเขียว สัญญาแหลมฉบังฯ เฟส 3 จ่อเซ็นสัญญาเอกชนเดือนนี้

กพอ. เห็นชอบท่าเรือแหลมฉบังฯ มีมติให้ "GPC" กัลฟ์-ปตท.-ไชนาร์ฮาร์เบอร์ ผ่านการประเมินซองที่ 4 จ่อรอครม. อนุมัติ

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2564 วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน 

โดยคณิศ แสงสสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี ได้แถลงผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 โดยผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการฯ เป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาด 20 ฟุต)

โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ได้มีมติให้ "กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC" ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ "GULF" บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด หรือ "PTT Tank" และบริษัท ไซนาร์ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับเป็นไปตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน และมติ ครม. ที่ได้อนุมัติไว้ 

นอกจากนี้ ยังได้เจรจาผลตอบแทนเพิ่มเติม อาทิ เอกชนตกลงเพิ่มเงื่อนไขการสร้างท่าเรือ F2 ให้เร็วขึ้น หากแนวโน้มตู้สินค้าเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เอกชนจะสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหาย ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่วันเริ่มประกอบการท่าเทียบเรือ เป็นต้น โดย กพอ.ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และจะนำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติ พร้อมลงนามสัญญาต่อไป

โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ฯ จะสามารถรองรับความจุตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี หรือเพิ่มตู้สินค้าไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตู้/ปี รับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น เชื่อมต่อการพัฒนาสู่ท่าเรือบก (Dry port) เป็นศูนย์กลางการค้าบริการขนส่ง ยกระดับไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมภูมิภาคเอเชียไปสู่ระดับโลก

ทั้งนี้ โครงการฯ นี้นับเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ - เอกชน (PPP) ที่ประสบผลสำเร็จต่อจาก 3 โครงการหลัก ซึ่งได้เอกชนเดินหน้าก่อสร้างแล้ว โดยมูลค่าการลงทุนรวมทั้ง 4 โครงการสูงถึง 633,401 ล้านบาท เป็นการลงทุนภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท (61%) และเป็นการลงทุนของภาครัฐ 196,940 ล้านบาท (39%)