น้ำมันขึ้นต่อเนื่อง! ชวนส่อง ‘ราคาน้ำมัน’ หน้าปั๊ม มีค่าอะไรซ่อนอยู่อีกบ้าง ?

น้ำมันขึ้นต่อเนื่อง! ชวนส่อง ‘ราคาน้ำมัน’ หน้าปั๊ม มีค่าอะไรซ่อนอยู่อีกบ้าง ?

"น้ำมันขึ้นราคา" ประเด็นร้อนของสังคมไทยวันนี้ สงสัยกันไหมว่า​ ค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่ใน "ราคาน้ำมันสำเร็จรูป" ว่า ในแต่ละหยดที่ใช้กันอยู่ทุกวัน นอกจาก "ราคาน้ำมันดิบ" แล้ว ยังมีค่าอะไรอีกบ้าง ที่อาจเป็นปัจจัยให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นหรือลงในแต่ละช่วงเวลา

ตั้งแต่ช่วงปลายปี ก.ย. 64 ถึงต้น ต.ค. "ราคาน้ำมันขึ้น" จนหลายคนเกิดคำถามว่า ราคาน้ำมันเแพงขึ้นเพราะอะไร หรือมีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่สามารถดันราคาน้ำมันให้ขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัดเจน

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปส่อง "ค่าใช้จ่าย" ที่ซ่อนอยู่ใน "ราคาน้ำมันสำเร็จรูป" ทุกๆ หยดที่ล้วนมีส่วนทำให้ราคาน้ำมันราคาสูงขึ้นหรือลดลงต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

  

  •  "ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม" มีค่าใช้จ่ายอะไรซ่อนอยู่บ้าง ? 

ข้อมูลจาก "กระทรวงพลังงาน" ระบุว่า "โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย" ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ได้แก่

1. ราคาหน้าโรงกลั่น หรือราคาเนื้อน้ำมัน คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้รวมภาษี กองทุน และค่าการตลาด

2. ภาษีสรรพสามิต คือภาษีที่จัดเก็บสินค้าที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้ของสินค้าเหล่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดหารายได้ให้แก่ภาครัฐ ซึ่งเงินส่วนหนึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม

3. ภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล) คือ ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรา 4 ของ พรบ.จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย มีอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท

4. เงินที่เรียกเก็บเข้า/อุดหนุน จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุประสงค์หลักคือการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ

5. เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550

วัตถุประสงค์ คือ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในมาตรา 25 โดยมีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ รวมทั้งกำหนดอัตราการส่งเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ 

6. ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจำหน่ายสินค้าหรือบริการชนิดต่างๆ

โดยปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจการขายสินค้า การให้บริการทุกชนิด และการนำเข้า อยู่ที่อัตรา 7%

7. ค่าการตลาด คือ ผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะได้รับจากการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงผลตอบแทนของการลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง การก่อสร้างสถานีบริการ การส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจทุกอย่าง รวมถึงค่าใช้จ่ายบุคลากร

ดังนั้น ค่าการตลาดจึงมิใช่กำไรของผู้ประกอบการ แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจซึ่งรวมถึงกำไรด้วย

8. ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด คิดเป็น 7% ของค่าการตลาด

  •  ใครคือผู้กำหนด "ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม" ในไทย ? 

คำถามมาคือ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเหล่านี้ที่ซ่อนอยู่ แล้วใครคือกำหนด "ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม" ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ผู้กำหนดราคาน้ำมันหน้าปั๊มในประเทศไทยคือ "ผู้ค้าปลีก" หรือ "ปั๊มน้ำมัน" ต่างๆ ซึ่งการกำหนดราคาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น

- ค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำมันไปยังสถานีบริการ (ต้นทุนน้ำมันและการจัดส่ง)

- ค่าใช้จ่ายในการบริหารสถานีบริการน้ำมัน เช่น เงินเดือน ค่าเช่าที่ดินและค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

- การแข่งขันกับสถานีบริการอื่นๆ ในย่านเดียวกัน

โดยจะมีการคำนวณราคาน้ำมันอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ก็กำกับดูแลทางด้านราคาน้ำมันในภาพรวมอีกทอดหนึ่งด้วย

 

  •  ทำไมราคาน้ำมันหลายประเทศ ถูกกว่าไทย ? 

"ราคาน้ำมัน" ในประเทศต่างๆ มีปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น ต้นทุนการซื้อน้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันที่กลั่นขึ้นภายในประเทศย่อมมีราคาถูกกว่าน้ำมันนำเข้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ทำมีส่วนให้ราคาน้ำมันแต่ละประเทศต่างกัน เช่น

- ภาษีสรรพสามิตและภาษีต่างๆ

- การชดเชยราคาน้ำมันของรัฐ เช่น ในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

- ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆ

เพราะฉะนั้น "ราคาน้ำมัน" ที่ขึ้นลง จึงเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยซึ่งต้องในแต่ละช่วงเวลาอาจต้องมาวิเคราะห์ลงในรายละเอียดว่าอะไรที่มีผลต่อราคาน้ำมันในเวลานั้น ทั้งในภาพรวมของตลาดโลก และในบริบทของแต่ละประเทศด้วย

 

อ้างอิง :