คอลลิเออร์สหวังรัฐขยายสิทธิภาษี‘บ้าน5ล้าน’ระบายสต็อกกระตุ้นตลาดปีหน้า

คอลลิเออร์สหวังรัฐขยายสิทธิภาษี‘บ้าน5ล้าน’ระบายสต็อกกระตุ้นตลาดปีหน้า

“คอลลิเออร์ส” หนุนคลังต่อเวลามาตรการลดภาษีโอน-จดจำนอง 0.01% พร้อมขยายเพดานสิทธิบ้านไม่เกิน 5 ล้าน ซัพพลายใหญ่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ช่วยระบายสต็อกหวังแรงส่งกระตุ้นตลาดปีหน้า

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า จากกระแสคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยพร้อมอาคารห้องชุดจากเดิมที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท และขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี  หากมติดังกล่าวประกาศใช้จะเป็น “ปัจจัยบวก” ที่สำคัญต่อภาคอสังหาฯ ในปี 2565

ทั้งนี้ หากพิจารณาอุปทานที่อยู่อาศัยทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา พบว่า อุปทานที่อยู่อาศัยช่วงราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดเป็น 77.21% ของอุปทานทั้งหมดั้ ขณะที่ช่วงราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็น 49.08% เท่ากับว่าจะมีที่อยู่อาศัยอีกกว่า 28.13%  จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

"มาตรการกระตุ้นครั้งนี้เป็นปัจจัยบวกที่จะกระตุ้นภาคอสังหาฯ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งในปี 2565 ช่วยระบายสต็อกในส่วนอุปทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและยังคงค้างอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุดของผู้ประกอบการในเวลานี้"

คอลลิเออร์สหวังรัฐขยายสิทธิภาษี‘บ้าน5ล้าน’ระบายสต็อกกระตุ้นตลาดปีหน้า

หวังระบายสต็อกคงค้าง

นอกจากนี้ยังพบว่าอุปทานในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยรอการขายที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนในช่วงมาตรการดังกล่าวเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ แบะปริมณฑลมีจำนวน 106,745 ยูนิต มูลค่า 373,607 ล้านบาท เป็นบ้านจัดสรร 61,104 ยูนิต มูลค่า 213,864 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 45,641 ยูนิต มูลค่า 159,743 ล้านบาท

“มาตรการภาษียังอาจกระตุ้นอสังหาฯ รอการขายในพื้นที่ปริมณฑลและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ จะได้รับประโยชน์อย่างมากท่ามกลางภาวะกำลังซื้อที่ลดลงอย่างมากจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว"

นายภัทรชัย ระบุว่า ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล “ชะลอตัว” ทั้งในส่วนของอุปสงค์และอุปทานกว่า 30%  เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต่างเป็นกังวลเป็นอย่างมาก จากอุปทานที่ยังคงค้างอยู่ในตลาดอีกกว่า 55,000 ยูนิตในกรุงเทพฯและอัตราการดูดซับต่ำลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอตัวในเรื่องของการเปิดตัวโครงการใหม่ และเร่งระบายสต็อกคงค้าง 

โดยเฉพาะอุปทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จที่เหลือขาย ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2563 ผู้ประกอบการปรับตัวรับมือโดยมีการปรับเพิ่มเพดานเงินดาวน์ขึ้น จาก 5-10% เป็น 10-30%  ผู้ประกอบการหลายรายนำโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมมาลดราคา จัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์