Digital Bank สู่ Digital Lending ตอบโจทย์ SMEs ไทยหรือไม่? (2)

Digital Bank สู่ Digital Lending ตอบโจทย์ SMEs ไทยหรือไม่? (2)

เมื่อสมรภูมิเงินกู้ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีลูกค้าเป้าหมายที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ถึง 36 ล้านคน จะสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ได้หรือไม่ ?

การที่สังคมไทยเป็นสังคมเกษตร และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม SMEs ที่คุ้นเคยกับการใช้บริการผ่านสาขา เนื่องจากขาดความรู้ทางการเงิน และเทคโนโลยี่ การให้บริการผ่านช่องทาง Digital Bank เช่น Mobile Banking หรือ Platform online ของผู้ให้บริการ Social Network อาจจะไม่ช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสินเชื่อได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีโครงสร้างทางสังคมที่เป็นอุตสาหกรรมและการบริการ ประชากรมีความรู้ด้านเทคโนโลยี่

การผลักดันให้ Digital Bank เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงบริการทางการเงินได้จึงอาจต้องใช้เวลาพอสมควร การให้บริการทางการเงินโดยเฉพาะสินเชื่อผ่านจุดให้บริการโดยเฉพาะสาขาจึงยังมีความจำเป็น Digital Bank จึงอาจจะเหมาะกับลูกค้ากลุ่มรายได้ระดับกลาง และอาจจะกำหนด Pricing ที่สูงเพื่อลดความเสี่ยง และชดเชยกับต้นทุนด้านการวางระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และต้นทุนทางด้านการตลาดเพื่อให้ลูกค้ารู้จัก

การส่งเสริมให้ลูกค้าระดับล่างเข้าถึง Digital Bank ภาครัฐจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะช่วยให้ลูกค้าระดับล่างสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างแท้จริง กำหนด Pricing ที่ยืดหยุ่น สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงิน เข้ามาแข่งขันในตลาดมากยิ่งขึ้น

Digital Bank เป็นนวัตกรรมการให้บริการทางการเงินที่ช่วยลดต้นทุนจากการบริการทางการเงินผ่านตัวกลาง ถ้าสามารถสร้างระบบที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น ก็สามารถช่วยเหลือ SMEs รายย่อยได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็น Smart SME ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยี 

นับตั้งแต่การระบาดของโควิด 19 ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวนมากที่ยังอยู่ในกลุ่ม Analog เกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) ที่ได้รับอนุญาตต่าง ๆ รูปแบบใหม่ทั้งสินเชื่อบุคคล นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อบุคคลดิจิตอล ซึ่งเป็น Digital Lending ที่ได้ใบอนุญาตให้เปิดบริการในปี 2564 

โดยเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธปท. ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank)ได้ใบอนุญาต “สินเชื่อบุคคลดิจิทัล” ให้กับ บริษัท จีฟิน เซอรวิสเซส (ที) จำกัด คาดว่าจะปล่อยสินได้ในไตรมาส 2 ของปี 2565 โดยต้นปี 2564 ธปท ได้อนุมัติไปแล้ว 2 ราย คือ บริษัท ซีมันนี (แคปปิตอล) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SEA GROUP ของสิงคโปร์ เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช “ช้อปปี้”  และ บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด หนึ่งในธุรกิจของกลุ่มทรู ในเครือ CP

ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Digital Lending เพิ่มช่องทางการปล่อยสินเชื่อจากการปล่อยสินเชื่อผ่านสาขา เพื่อต้องการขยายฐานลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น เช่น ธนาคารกสิกรไทย เปิดบริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่น “K PLUS” ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้บริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่น “SCB EASY” ภายใต้บริการ “Speedy Loan” และ “Speedy Cash” ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีแอปพลิเคชั่น “KMA” ภายใต้สินเชื่อบุคคล “Krungsri iFin” นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงิน(ฟินเทค)เข้ามาแข่งขันมากยิ่งขึ้น สมรภูมิการแข่งขันในตลาด Digital Lending ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อธนาคารไทยพาณิชย์และเอไอเอส ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทชื่อ AISCB ให้บริการด้านสินเชื่อดิจิตอล

สมรภูมิเงินกู้ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีลูกค้าเป้าหมายที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ถึง 36 ล้านคน จะสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ได้หรือไม่ต้องติดตามต่อไปครับ.....