กรมชลฯ จับตาสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง เร่งช่วยพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

กรมชลฯ จับตาสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง เร่งช่วยพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทาน ระดมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ บริเวณ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีชุมชนและประชาชนอาศัยอยู่ตลอดแนว

        "จากสภาพอากาศที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ รวมถึงได้มีการเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณสูงขึ้น จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงให้ยกสิ่งของขึ้นที่สูง หากเกิดน้ำล้นตลิ่ง “

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายกรมชลประทานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที รวมถึงได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด" ดร.เฉลิมชัย กล่าว

        กรมชลฯ จับตาสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง เร่งช่วยพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำจากพื้นที่ตอนบนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำท่า M.7 (สะพานเสรีประชาธิปไตย) อำเภอเมืองอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,174 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง (ฝั่งอำเภอวารินชำราบ) ประมาณ 21 เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในพื้นที่ตอนบน แม่น้ำชี ที่อำเภอเขื่องใน ลำเซบก ที่อำเภอตระการพืชผล ลำโดมใหญ่ ที่อำเภอเดชอุดม ลำเซบาย ที่อำเภอเขื่องใน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับระดับน้ำที่สูงขึ้นและอาจจะเกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำเซบาย ลำเซบก และลำโดมใหญ่ รวมไปถึงลำน้ำสาขาต่างๆ กรมชลประทาน ได้ประสานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัดอุบลราชธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดังกล่าว ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำด้วย

 

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ปัจจุบัน ( 27 ก.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 49,111 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 25,180 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีก 26,970  ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,648 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 4,952 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 13,223  ล้าน ลบ.ม. 

 

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนหลายแห่ง นั้น กรมชลประทาน ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 27 ก.ย. – 2 ต.ค. 64  ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จะทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาพร่องน้ำในอ่างฯ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้น โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่าง ตรวจสอบอาคารชลประทาน

รวมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อลดความตระหนกให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน รับฟังข่าวสาร สถานการณ์น้ำ รวมไปถึงสภาพอากาศ จากทางหน่วยงานราชการเท่านั้น  หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลากรมชลฯ จับตาสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง เร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง