“ซีพีเอฟ” ดัน 3 กลยุทธ์ หนุนความมั่นคงอาหารโลก

“ซีพีเอฟ” ดัน 3 กลยุทธ์  หนุนความมั่นคงอาหารโลก

"ซีพีเอฟ" เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร ชู 3 กลยุทธ์ "คุณค่าโภชนาการ-เทคโนโลยีดิจิทัล-ระบบอัตโนมัติ" รองรับความต้องการอาหารในไทยและโลกในทุกวิกฤติ

ความท้าทายและผลกระทบจากวิกฤติโควิด-2019 ตลอดเกือบ 2 ปี ทำให้ทุกคนฝากความหวังกับวัคซีนที่จะช่วยยั้บยั้งโรคได้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันวิกฤติครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่าอาหาร คือ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนอยู่รอดและก้าวข้ามวิกฤติได้ “การสร้างความมั่นคงทางอาหาร” เป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

ประเด็นความมั่นคงทางอาหารถูกหยิบยกขึ้นมาบนเวที “การประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยระบบอาหารโลก” หรือ Food Systems Summit 2021 ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อแสดงวิสัยทัศน์การสร้างความมั่นคงทางอาหารปลอดภัยและดีต่อสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หลังจากสถานการณ์โควิด-19 สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความเปราะบางของระบบอาหารในทุกประเทศ

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร และผู้ผลิตอาหารระดับโลกที่ขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนจะสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) พัฒนาระบบอาหารของไทยและทุกประเทศที่ไปลงทุนให้ยั่งยืนตลอดซัพพลายเชน 

ทั้งนี้ ได้ผนึกความร่วมมือตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ตลอดจน พันธมิตรทางธุรกิจ ควบคู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างหลักประกันการผลิตอาหารคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย สะอาด มีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมผู้บริโภคทั่วโลกเข้าถึงอาหารปลอดภัยและดีต่อสุขภาพอย่างเพียงพอทุกสถานการณ์ ในฐานะ “ครัวของโลก” ที่ยั่งยืนสอดคล้องเป้าหมาย SDGs

ซีพีเอฟเตรียมพร้อมเป็นผู้นำด้าน Food Security ด้วยกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ 

1.Nutrition (คุณค่าโภชนาการ) ด้วยการสร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขโภชนาการที่ดี ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การเพิ่มมูลค่าสินค้าตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์สัตว์ การใช้โพรไบโอติกและยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์ การยกระดับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อให้สัตว์แข็งแรง ช่วยให้ซีพีเอฟส่งมอบอาหารคุณภาพสูง ปลอดภัย ปลอดสารและไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ

2.Digitalization คือ การประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัลทำงานมากขึ้น ปรับปรุงกระบวนการทำงานเร็วขึ้น บริหารจัดการทรัพยากรและต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 

3.Automation การนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีขั้นสูงมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคและทันการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารโลก และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าซีพีเอฟจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนระบบการผลิตอาหารปลอดภัยและยั่งยืนของโลกทุกสถานการณ์

โดยเฉพาะภายใต้กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนช่วง 10 ปี (2564-2573) สนับสนุนเป้าหมาย SDGs ครบทั้ง 17 ประการ ช่วยซีพีเอฟตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร เช่น Zero Hunger การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน Good Health and well-being รับรองการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน

นอกจากนี้ ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับระบบการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบอาหารยั่งยืน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนำระบบไบโอแก๊สเปลี่ยนของเสียจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้เป็นพลังงาน การใช้ระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งพัฒนาการผลิตที่ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแบ่งปันน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วให้เกษตรกรรอบฟาร์มและสถานประกอบการเพื่อลดปัญหาภัยแล้ง และลดภาระค่าใช้จ่ายเกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมี

ขณะที่ช่วง 1 ปี เศษ ของวิกฤติโควิด-19 ซีพีเอฟยกระดับมาตรการการป้องกันกระบวนการผลิตและการทำงานให้ปลอดภัยและดูแลการผลิตไม่ให้สะดุด เพื่อส่งอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภค โดยนำความเชี่ยวชาญด้านอาหารมาช่วยในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศ ซึ่งเริ่มที่โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” มอบอาหารพร้อมรับประทานหลายล้านแพ็คน้ำดื่มและเครื่องดื่มสุขภาพหลายล้านขวด สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรการแพทย์ และคนไทยที่เดือดร้อน

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามเป็นนโยบาย “นายธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือซีพี ที่ให้ทุกบริษัทในเครือช่วยสังคมฝ่าวิกฤตินี้ภายใต้โครงการ “ซีพี ร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” ที่ต่อยอดโครงการ “ครัวปันอิ่ม ซีพี ร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” ซึ่งเครือซีพีและพันธมิตร 100 องค์กร ส่งมอบอาหารพร้อมทาน 2 ล้านกล่องให้ประชาชน กลุ่มคนเปราะบางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งซีพีเอฟมีส่วนผลิตอาหารปรุงสุกใหม่ 1 ล้านกล่อง

รวมทั้งซีพีเอฟสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชนผ่าน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชนบท 32 ปี ช่วยส่งเสริมเยาวชนเข้าถึงโปรตีนอย่างเพียงพอ โดยมีโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและถิ่นทุรกันดารร่วม 880 โรงเรียน มีเด็กและเยาวชนเข้าถึงอาหารโปรตีน 160,000 คน

รวมทั้งซีพีเอฟได้ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ไทยและรองรับความต้องการโลก โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งผู้ส่งมอบวัตถุดิบและเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ทุกคนเข้าถึงอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นใน “วิถีปกติใหม่” เป็นหลักประกันให้คนไทยและทั่วโลก เพื่อให้สถานการณ์วิกฤติครั้งใดจะไม่ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร