ส่องผลงาน ธรรมนัส 2 ปี 4 หน่วยงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ส่องผลงาน ธรรมนัส 2 ปี 4 หน่วยงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ตลอด2 ปีที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ใฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดูแล 4 หน่วยงาน คือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) นั้นมีผลงานคืบหน้าไม่น้อยเลยทีเดียว

โดยการทำงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้เน้นย้ำเรื่องการบูรณาการและคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับเป็นหลัก ในส่วนของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งปี 2564 มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคน้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อย

                ร้อยเอกธรรมนัส  จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วมากขึ้น จากปกติที่มีการเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี มาเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564  ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน

 

ส่องผลงาน ธรรมนัส 2 ปี 4 หน่วยงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไปพื้นที่ภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ประจำปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

กรมพัฒนาที่ดิน นั้น ได้ผลักดันให้ใช้เครือข่ายหมอดินเข้าถึงเกษตรกรให้มากที่สุดเพื่อแก้ปัญหาดินโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสม   การขุดบ่อขนาดเล็กในพื้นที่ และสร้างบ่อเก็บน้ำใต้ดิน โดยเห็นว่าน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อภาคการผลิต โดยได้เสนอขอวงเงิน 156 ล้านบาท ภายใต้กรอบการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

ในขณะเดียวกันได้รณรงค์ปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินภายใต้“โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ การใช้สารชีวภาพ พด. ต่างๆเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงวิธีการทำปุ๋ยหมัก แทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงขึ้น

ร้อยเอกธรรมนัส ยังให้กรมพัฒนาที่ดิน ประสานกับส.ป.ก. เพื่อฟื้นสภาพดินให้สามารถประกอบกิจกรรมทางการเกษตรได้  โดยนโยบายในส่วนของ ส.ป.ก. นั้น เห็นว่าที่ผ่านมามีปัญหาการถือครองอย่างไม่ถูกต้อง จึงสั่งการให้ทบทวนการถือครองทั้งหมด และเรียกคืนโดยเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองทุกราย หากพบความไม่ถูกต้องให้ยึดคืนทันที เพื่อนำไปแจกให้กับเกษตรกรรายอื่นต่อ

รวมทั้งมีโยบายสร้างสมาร์ทซิตี้ มีโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วนเพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ ไม่ทิ้งที่ทำกินอีก  เริ่มจากเข้าโค่นสับและล้มต้นปาล์มน้ำมันและปรับพื้นที่ในพื้นที่เป้าหมายตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 แปลงหมายเลข 601 ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยกล่าวว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีการถือครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายและยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ประมาณ 973 ไร่ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ยึดคืนจากบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการจัดที่ดินให้ชุมชุนของจังหวัด (คปจ.กระบี่) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรและผู้ยากไร้เข้าทำกินตามนโยบายรัฐบาล

 

ส่องผลงาน ธรรมนัส 2 ปี 4 หน่วยงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ปลูกฟ้าทะลายโจร กัญชา กัญชง ในพื้นที่ส.ป.ก. โดยล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ พัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐาน ผลักดันให้ส่งออกต่อไป

สำหรับการดูแล อ.ต.ก. นั้น นโยบายสำคัญคือต้องการยกระดับตลาด อ.ต.ก. ตามภูมิภาคให้เป็นตลาดสินค้าเกษตร พร้อมทั้งปรับโครงสร้าง ตลาด อ.ต.ก. ที่จตุจักร  ล้างบางมาเฟียที่ขายหรือปล่อยแผงต่อ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้มาใช้บริการ ตั้งเป้าหมายจะสร้างสินค้าที่เป็นแบรนด์ อ.ต.ก. แล้วส่งออก สร้างรายได้ให้กับองค์กร ลดการขาดทุน โดยปี 65 ต้องมีกำไร เพื่อให้ อ.ต.ก. เป็นหน่วยงานที่พึ่งตนเองได้  โดยแนวทางแก้ปัญหาที่ตลาดคลองเตยมาเป็นโมเดล 

อย่างไรก็ตาม การที่ร้อยเอกธรรมนัส ประกาศลาออกการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น ยังไม่ส่งผลกระทบกับโครงการต่างๆทั้งหมดแต่อย่างใด เนื่องจากส่วนใหญ่ได้ดำเนินการตามกรอบงบประมาณปกติ  จึงสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ไม่สะดุด