เทรนด์ M&A พุ่ง! บจ.ปรับโครงสร้างธุรกิจ-เสริมแกร่งฝ่าโควิด

เทรนด์ M&A พุ่ง! บจ.ปรับโครงสร้างธุรกิจ-เสริมแกร่งฝ่าโควิด

“ประธานเฟทโก้” คาดเทรนด์ควบรวมมีต่อเนื่อง เหตุบจ.ใหญ่สภาพคล่องสูง-อานิสงส์ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ “สมาคมโบรกฯ” ชี้ช่วงวิกฤติโควิด ภาคธุรกิจเห็นประโยชน์การจับมือพันธมิตรหนุนการเติบโตร่วมกัน “บล.ทรีนีตี้” เผยบจ.ปรับตัว ปรับโครงสร้างภายในกลุ่มเพื่อลดต้นทุน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยว่า ในระยะถัดไปเชื่อว่าจะเห็นการประกาศควบรวมกิจการ (M&A) ของธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะได้ปัจจัยหนุนจากที่บริษัทขนาดใหญ่กำเงินสดเอาไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลจากที่กลุ่มบริษัทดังกล่าวชะลอการลงทุนในปี 2563 เพื่อตุนสภาพคล่องไว้ใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวิกฤติมีแนวโน้มคลี่คลายลงจึงเห็นการประกาศเข้าลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่องประกอบกับสภาพตลาดที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมลดลง

ทั้งนี้เชื่อว่าเทรนด์ดังกล่าวจะต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ตราบใดที่ต้นทุนดอกเบี้ยยังต่ำ และกระแสเงินสดในมือของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการทำ M&A เพิ่มขึ้น คือภาคธุรกิจไทยเริ่มเห็นความสำคัญในการร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากกว่าการดำเนินการคนเดียว รวมถึงค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ธุรกิจครอบครัวเริ่มเปิดรับมากขึ้น และลดความหวงแหนธุรกิจที่ต้องการบริหารภายในครอบครัวเท่านั้นลดลง

ดีลควบรวมกิจการ M&A 2564

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และกรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นการประกาศดีลธุรกิจที่สำคัญหลายดีล ได้แก่ กลุ่มบีทีเอสเข้าถือหุ้นกลุ่มเจมาร์ท กลุ่มซีพีปรับโครงสร้างธุรกิจ และกลุ่มเซ็นทรัลที่เข้าซื้อกิจการของ บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) แม้บางกรณีเป็นการเตรียมการมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19

ทั้งนี้ยอมรับว่าโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจเห็นประโยชน์ในการร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุน เพราะส่งผลให้ต้นทุนในการทำดีลถูกลง

อย่างไรก็ดี หลายดีลที่ประกาศเป็นการปรับโครงสร้างของธุรกิจ หรือปรับตัวจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ส่วนธุรกิจที่ถูกผลกระทบหนักอย่างโรงแรมยังไม่เห็นความชัดเจน เพราะยังติดเรื่องความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายที่ไม่ตรงกัน กล่าวคือ ผู้ซื้อต้องการซื้อกิจการในต้นทุนที่ต่ำ แต่ผู้ขายมีความต้องการอยากขายกิจการในราคาที่สูง

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเห็นการปรับตัวของของบจ. ด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการประกาศความร่วมมือทางธุรกิจผ่านการปรับโครงสร้างภายในเพื่อใช้ห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน (Crossing Supply Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของธุรกิจ เพื่อเพิ่มอัตราการทำกำไร (มาร์จิน) และเพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจให้ถูกลง เช่นกรณีของกลุ่มซีพี เป็นต้น

ขณะที่รูปแบบ M&A มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเห็นชัดตั้งแต่ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเป็นขาลง และมีวิกฤติโควิด-19 เป็นตัวเร่ง (Catalyst) ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการร่วมมือกันเพื่อแชร์ต้นทุนและฐานลูกค้า ส่งผลให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งและสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤติ และแม้ว่าวิกฤติโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่คาดว่ากระแสการร่วมมือกันจะยังมีต่อเนื่อง

สำหรับ บล.ทรีนีตี้ พบว่าลูกค้าหลายรายเริ่มเห็นความจำเป็นของการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้ต้นทุนน้อยลง และสามารถใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกันให้เกิดประโยชน์ นอกจากการทำ M&A ระหว่างธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว ยังเห็นความต้องการควบรวมกิจการระหว่างอุตสาหกรรมอีกด้วย

ส่วนธุรกิจที่ถูกกระทบหนักอย่างโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ยอมรับว่าที่ผ่านมายังเห็นความร่วมมือไม่มากนัก เพราะรายได้ของธุรกิจดังกล่าวยังไม่กลับคืนมา และแม้ร่วมมือกันความต้องการใช้บริการ (ดีมานด์) ของผู้บริโภคก็ยังไม่กลับมาเช่นกัน อย่างไรก็ดี คาดว่าในระยะถัดไปจะเริ่มเห็นความชัดเจนของดีลการซื้อขายโรงแรมมากขึ้น จากที่บจ.ขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นที่มีฐานทุนแกร่งเริ่มมองหาพอร์ตโรงแรมที่ตัวเองยังขาด ขณะที่บริษัทขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบเริ่มเห็นประโยชน์ในการเข้ามาใช้ทรัพยากรของกลุ่มทุนใหญ่มากขึ้น