JAS ไตรมาส 2/64 ขาดทุนเพิ่มเป็น 910.37 ล้านบาท

JAS ไตรมาส 2/64 ขาดทุนเพิ่มเป็น 910.37 ล้านบาท

'จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล' เผยไตรมาส 2 ปี 64 ขาดทุน 910.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากบันทึกขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมเปิดแผนธุรกิจปีนี้ยังมองหาช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่เพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิม รวมทั้งลดค่าใช้จ่าย

นายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 910.37 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 496 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และขาดทุนเพิ่มขึ้น 645 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ EBITDA ไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 3,278 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 259 ล้านบาท คิดเป็น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 166 ล้านบาท คิดเป็น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่รายได้รวมบริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมจากการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 4,848 ล้านบาท ลดลง 159 ล้านบาท คิดเป็น 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 35 ล้านบาท คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยรายได้หลักของบริษัทยังคงมาจากส่วนงานให้บริการอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงและอินเทอร์เน็ตทีวี

ทั้งนี้รายได้รวมจากการดำเนินการในไตรมาส 2 ปี 2563 ได้รวมรายการกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 193 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทและบริษัทย่อยมีการบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 59 ล้านบาท

ส่วนบริการ 3BB ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2564 มีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 3.57 ล้านราย เมื่อหักจำนวนผู้ใช้บริการภาคองค์กร ลูกค้า WIFI กลุ่ม Barter กลุ่มที่ใช้ในกิจการภายใน กลุ่มบริการเสริมอื่น และกลุ่มลูกค้าที่มีหนี้ค้างออกเป็นต้น โดยจะมียอดผู้ใช้บริการสำหรับลูกค้าทั่วไปในส่วนที่เป็น Fixed Broadband และที่สามารถเก็บเงินได้ประมาณ 2.38 ล้านราย โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อราย (ARPU) 598 บาทต่อเดือน

 

สำหรับแผนธุรกิจปี 2564 สถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ระลอก 2 และ 3 ในช่วงปี 2564 มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น สถานประกอบการหลายๆ ที่มีนโยบายให้ทำงานแบบ WFH และการเรียนเป็นแบบ Online ทำให้เกิดความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่การเข้าไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตลำบากมากขึ้นเพราะเจ้าของบ้านกังวลเรื่องการแพร่เชื้อจากคนแปลกหน้า ซึ่งทางบริษัทฯ มีนโยบายป้องกันอย่างเข้มงวดมาตลอดเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับบริการได้อย่างสบายใจ ทำให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่เพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากขึ้น จึงได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ดังนี้ 1. บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JTS เข้าซื้อหุ้นในบริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด ทำให้ JTS เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ Hyperscale Data Center และ Cloud Service แบบครบวงจร เพื่อรองรับธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่และเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ในระยะยาว

2.การทำ Partial Business Transfer (PBT) ระหว่างบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัททริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งได้ดำเนินการไปตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายค่าธรรมเนียมกสทช.และภาษี ตามนโยบายการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อยปีละ 200 ล้านบาท