“อาคม” ยันไม่ขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ

“อาคม” ยันไม่ขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ

"อาคม"ยันไม่ขยายกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะ​ เชื่อคุมได้ไม่เกิน 60% ด้านสบน.เกินกู้​ 1 ล้านล้าน​ เบิกจ่ายแล้ว 8.4 แสนล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เสนอให้รัฐบาลขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะเป็น 65-70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เนื่องจากมองว่าพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้ทั้งสองฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาทไม่เพียงพอเยียวยาโควิด ว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีการปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้น โดยจะยังคงยึดเพดานหนี้อยู่ที่ 60 % ของจีดีพี ซึ่งเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง


“การจะกู้เงินเพิ่มนั้นจะต้องมีแผนงานรองรับที่ชัดเจนก่อนถึงจะเริ่มดำเนินการกู้เงินตามพ.ร.ก.ได้ ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะมองว่ายังไม่จำเป็นต้องขยายเพดานให้สูงขึ้น ”

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายตามมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ในส่วนของฟื้นฟูและเยียวยาแล้ว จำนวน 840,000 ล้านบาท ส่วนพ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาทที่ออกมาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิดนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกู้แต่อย่างใดหลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติกรอบไว้ เนื่องจากจะต้องรอดูแผนงานก่อนซึ่งถ้าแผนงานต่างๆ ผ่านครม.แล้วสบน.ถึงจะดำเนินการกู้เพื่อนำมาใช้จ่าย


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 มิ.ย.2564 หนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ที่ 56.09 % และคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2564 หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 58% เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปรับเพดานหนี้สาธารณะในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรอดูตัวเลขจีดีพีจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติครั้งต่อไปว่าจะปรับจีดีพีหรือไม่ แต่ขณะนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพียังไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ 60% แน่นอน

ส่วนการทบทวนกรอบเพดาหนี้สาธารณะ เนื่องจากครบรอบกำหนด 3 ปีที่จะต้องมีการทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลัง หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2561 นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน เพื่อทบทวนกรอบหนี้สาธารณะแต่อย่างใด