'Plant-based' อาหารทางเลือก โอกาสบนความยั่งยืน สู่เป้า 'Net Zero'

'Plant-based' อาหารทางเลือก โอกาสบนความยั่งยืน สู่เป้า 'Net Zero'

ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช” หรือ “Plant-based Food” อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง กลายเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการลดบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนฯ

ข้อมูลจากกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรมทั่วโลกที่ขยายตัว เป็นหนึ่งในตัวการทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มีการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในเชิงกสิกรรมเป็นเชิงอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) กลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ สหประชาชาติ ได้กำหนด เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่รวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งปล่อยคาร์บอนฯ กว่า 30-40% ของปริมาณคาร์บอนทั้งหมด นำมาซึ่งความพยายามลดผลกระทบจากอุตสาหกรรม ตั้งเป้าสู่ “Net Zero” ลดการปล่อยมลพิษ ผลักดันให้คาร์บอนเป็นศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ส่วนประกอบพืชแทนเนื้อสัตว์ อาหารออแกนิค หรือแพจเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

162487954671

“ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช” หรือ Plant-based Food อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง กลายเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการลดบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนฯ แม้ปัจจุบันความนิยม Plant-based Food ในไทยจะยังไม่สูงเท่าสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาด Plant-based Food ที่ใหญ่ที่สุด แต่ ศูนย์วิจัยกรุงไทย ธนาคารกรุงไทย มองว่า ธุรกิจ Plant-based Food ในไทยมีโอกาสสร้างกำไรดีขึ้นจากเดิม 2-10% ไปสู่ระดับ 10-35% และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะระดับ 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่ม Plant-based Food ที่มีโอกาสเติบโตในไทย คือ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Meat) อาหารปรุงสำเร็จจากพืช (Plant-based Meal) และไข่จากพืช (Plant-based Egg) นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนของ Startup ในต่างประเทศ กลุ่ม Bio-engineered Food เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2563

162487956894

บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ในฐานะเป็นผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape) นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีเป้าหมายการเป็นผู้นำระดับโลกในการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต “Food For Future”

162487949255

แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF

แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF กล่าวว่า NRF เป็นบริษัทที่พยายามต่อสู้กับโลกร้อน ด้วยการผลิตอาหารที่ยั่งยืน มุ่งมั่นให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ภายใต้กลยุทธ์เดินหน้าสร้างโรงงานในแต่ละทวีปทั่วโลก เพื่อผลิตอาหารที่คาร์บอนต่ำ เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ การเป็นผู้ผลิตโปรตีนทางเลือกที่เป็นเบอร์หนึ่งของโลก 

ผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มองว่า SDGs เป็นโอกาสเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ ในระบบเศรษฐกิจ 4 ระบบ ได้แก่ อาหารและการเกษตร เมือง พลังงานและวัสดุ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อันเป็นผลมาจากโอกาสใหม่ ๆ และประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารมีโอกาสเป็น 1 ใน 4 ดังนั้น โอกาสมีหลากหลายตั้งแต่วัตถุดิบ เทคโนโลยี การบริโภค

ที่ผ่านมา NRF มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (The Next Evolution of Food) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วัตถุดิบและส่วนประกอบของอาหาร (Processing, Productivity, Raw Material, Ingredients) เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน มีรสชาติถูกปาก สร้างความสุข และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ให้กับผู้บริโภคทั่วโลก มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ (United Nations) ขับเคลื่อนสู่สังคมสีเขียว โดยได้ริเริ่มโครงการ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานของ NRF เพื่อเดินหน้าถึงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “แดน” กล่าวว่า
แผนระยะสั้น คือ ต้องเป็นบริษัทที่เป็นตัวอย่าง ปัจจุบัน
NRF เป็นโรงงานผลิตอาหารภาคเอกชนรายแรกในประเทศไทย
ที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรอง “องค์กรปราศจากคาร์บอน” (
Carbon Neutral) สองปีซ้อน พร้อมทำความร่วมมือกับบริษัทพันธมิตร ในการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ ลดการปล่อยคาร์บอนในโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการใช้เคมีภัณฑ์ในวัตถุดิบให้น้อยลง ลดการทำร้ายดิน อีกหนึ่งเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรลดการใช้เคมีเพื่อช่วยปรับหน้าดิน เพราะดินมีส่วนสำคัญในการดูดคาร์บอน    

แผนระยะปานกลาง คือ การปลูกป่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากการพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าไทยมีพื้นที่ 26 ล้านไร่ที่สามารถปลูกป่าได้ แต่ต้องใช้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากในสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น ภาคเอกชน สามารถมีส่วนร่วมได้ แนวทาง คือ ปัจจุบันมีการจ่ายปันผลทุกปีสำหรับบริษัทมหาชน หากเพิ่มปันผลที่จ่ายออกไป 3% และเอาเงินตรงนั้นย้อนกลับมาปลูกป่า จะสามารถปลูกป่า 26 ล้านไร่ ได้ภายในปี 2593 เป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้ปั้นโครงการนี้ขึ้นมาให้ได้โดยเริ่มจาก NRF

“เป้าหมายปานกลาง - ระยะยาว ยังมาจากธุรกิจของ NRF เอง คือ โปรตีนทางเลือก ตอนนี้บริษัทฯ กำลังสร้างโรงงานในภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ไทย จีน อเมริกาใต้ อินเดีย ภายใน 10 ปีข้างหน้า ภายใต้งบ 5,000 – 7,000 ล้านบาทตั้งเป้าหมายกำลังการผลิต Plant based food ใน 3 ปีแรก อยู่ที่ประมาณ 1 แสนตัน หากคำนวณตัวเลขใช้แฮมเบอร์เกอร์เป็นตัวอย่าง การเลือกทานแฮมเบอร์เกอร์จาก Plant based ลดคาร์บอนได้ถึง 3.3 กิโลคาร์บอน ดังนั้น
การผลิตและบริโภค
Plant based แทนเนื้อสัตว์ 1 แสนตัน จะลดคาร์บอนได้ 3.3 แสนตันคาร์บอนต่อปี

NRF ยังขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ  โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิก สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) อยู่ระหว่างทำโครงการเป้าหมายให้ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตโปรตีนทางเลือกของโลก พร้อมจัดตั้ง “Root the Future องค์กรไม่แสวงหากำไร 100% ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการบริโภคเนื้อสัตว์ หันมาทาน Plant-based food และทำอย่างไรให้ตระหนักในสภาวะโลกร้อน ผ่านมา 1 ปี ในวันนี้มีผู้ติดตามกว่า 3 หมื่นคน คอนเทนต์เข้าถึงประชาชน 4.4 ล้านคนต่อสัปดาห์ พร้อมกับ สนับสนุนมูลนิธิ , NGO ทั่วโลก และ Forum for The Future ในการศึกษาผลกระทบของระบบอาหาร รวมถึงในมุมของนักลงทุนที่จะเลือกลงทุนในบริษัท โดยคำนึงถึงเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์

นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งเป็นเครือข่ายท้องถิ่นของ UN global compact ที่มีสมาชิกทั่วโลก 13,331 องค์กร จาก 165 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีเป้าหมาย วิธีคิด เดียวกัน ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกรอบการทำงาน คิดกลยุทธ์ เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน คือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

“แดน” กล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การตระหนักและการกระตือรือร้นในการลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะธรรมชาติของมนุษย์ ต้องรอให้ปัญหาเกิดก่อนถึงจะแก้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้สร้างการรับรู้ได้เร็ว รวมถึง
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้จำหน่ายสารเคมี  สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

“การที่เราจะเปลี่ยนโลกนั้นยาก ดังนั้น อีกหนึ่งกุญแจสำคัญ คือ นักลงทุนสถาบัน กองทุนจะต้องเปลี่ยน ตอนนี้
นักลงทุนอาจจะคิดเรื่องผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”

“เราสามารถทำธุรกิจได้ และรู้สึกภูมิใจว่าไม่ได้แสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีส่วนในการช่วยสังคม สิ่งที่คาดหวัง คือ เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทเปลี่ยนความคิดของคนในเรื่องสิ่งแวดล้อม เป้าหมาย คือ
ทำอย่างไร ให้ช่วยลดคาร์บอนของโลก คาดหวังว่าสักวัน
NRF จะเป็น The first carbon negative company ในประเทศไทย”แดน กล่าวทิ้งท้าย