ท่องเที่ยวจี้รัฐตั้งกองทุนอุ้มรายเล็ก หนุน‘รีสตาร์ทธุรกิจ’รับเปิดประเทศ

ท่องเที่ยวจี้รัฐตั้งกองทุนอุ้มรายเล็ก  หนุน‘รีสตาร์ทธุรกิจ’รับเปิดประเทศ

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขีดเส้นเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน นับจากประกาศเมื่อ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา หรือภายในเดือน ต.ค.นี้ เร็วขึ้นกว่าเดิม กำหนด ม.ค.2565

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยังได้ “คลายล็อก” เพิ่มเติมล่าสุดเมื่อ 18 มิ.ย. ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยวต้องเร่งมือเตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาใช้บริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงชาวไทยที่น่าจะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเมื่อการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 คลี่คลาย

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.จะเข้าไปสร้างความพร้อมทุกทัชพอยต์ในภูเก็ต ทุกทัชพอยต์เพื่อเตรียมความพร้อมความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อเดินทางมาถึง ตั้งแต่สนามบิน บริการรถขนส่งนักท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สปา รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานขับรถ มัคคุเทศก์ และอื่นๆ ให้ได้มาตรฐานแบบ “One Standard” ตลอดทั้งซัพพลายเชน และผลักดันให้สถานประกอบการได้รับมาตรฐาน SHA Plus มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่เพิ่มเงื่อนไขเรื่องพนักงานในสถานประกอบการนั้นๆ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 100%

“อยากให้รัฐบาลช่วยจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน นำมารีสตาร์ทธุรกิจรับการเปิดเมืองอีกครั้ง หลังนายกฯประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วันซึ่งเป็นสิ่งที่เกินคาด เมื่อเบอร์ 1 ของประเทศออกแถลงการณ์ชัด สะท้อนว่าเห็นความสำคัญของภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติและภาคเอกชนอย่างมาก”

แม้เดือน ก.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกของการเปิดโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะยังเดินทางเข้ามาไม่มากนัก แต่ได้ทำให้คนทั่วโลกเห็นถึงเป้าหมายในการเปิดประเทศของไทย! การขีดไทม์ไลน์เปิดประเทศภายใน 120 วัน จึงทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชื่อมั่น เริ่มลุยหาลูกค้า ซึ่งกว่าจะถึงเดือน ต.ค. ผู้คนทั่วโลกน่าจะได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นและมีความพร้อมออกเดินทางนอกประเทศ

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หากพื้นที่ไหนมีความพร้อมภายในเดือน ต.ค.นี้ สามารถดำเนินการเปิดเมืองได้ แต่ต้องมี 3 แผนงานหลัก กล่าวคือ 1.แผนการกระจายวัคซีน 2.แผนพัฒนาเมือง และ 3.แผนการทำตลาด รวมถึงการปฏิบัติตามคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) ของเมืองนั้นๆ โดยเฉพาะงานหลังบ้าน การควบคุมคนเข้าออกเมือง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อเปิดเมืองแล้วจะไม่มีปัญหาขึ้นมาภายหลัง และมีแผนเผชิญเหตุซึ่งเป็นสิ่งที่นายกฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก

“นายกฯ เน้นย้ำว่าการเปิดประเทศเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ต้องดำเนินตามมาตรการที่เคร่งครัดและอยู่ในเงื่อนไขที่ยอมรับได้ โดยแถลงการณ์ของนายกฯ เหมือนจุดแสงสว่างให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เวลานี้หลายโรงแรมในไทยเริ่มพิจารณากลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ต.ค.นี้ หลังปิดให้บริการชั่วคราวจากวิกฤติโควิด ซึ่งต้องกลับมาอบรมพนักงานอีกครั้ง เพราะเทรนด์การท่องเที่ยวเปลี่ยนไป กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายมีพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนไป ซึ่ง ททท.พร้อมจะเข้าไปพัฒนาบุคลากรเพื่อร่วม Upskill และ Reskill ด้วย”

เมื่อมีการขยับไทม์ไลน์เปิดประเทศเร็วขึ้น จะมี 7 พื้นที่นำร่อง ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในไตรมาส 3 นี้ ได้แก่ ภูเก็ต วันที่ 1 ก.ค.เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วมาเที่ยวภูเก็ตแบบไม่กักตัวอย่างน้อย 14 คืนก่อนเดินทางออกไปเที่ยวพื้นที่อื่นๆ ในไทย ขณะที่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-พะงัน-เต่า) ศบค.เห็นชอบในหลักการให้พื้นที่ 3 เกาะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนด (Sealed Routes) เริ่ม 15 ก.ค.

ตามมาด้วยเส้นทางท่องเที่ยวส่วนขยาย (Extension) เชื่อมโยงภูเก็ต 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง Sealed Route สู่ 3 พื้นที่ในกระบี่ มีเกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล อีกเส้นทางคือเขาหลัก และเกาะยาว พังงา เริ่มเดือน ส.ค.นี้ ส่วนพื้นที่นำร่องอีก 3 พื้นที่ซึ่งจะเริ่มเดือน ก.ย.นี้ มี จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุม อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมเมืองพัทยา อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ และ จังหวัดบุรีรัมย์ ครอบคลุม อ.เมืองบุรีรัมย์ และสนามช้างอารีนา รับการแข่งขันโมโตจีพีต้นเดือน ต.ค.นี้

ขณะที่ไตรมาส 4 ตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป จะมีกรุงเทพฯ ชะอำ และหัวหิน รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีความพร้อมในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ! นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะเปิดพื้นที่นำร่องได้มากกว่า 10 พื้นที่ด้วยซ้ำไป เพื่อเก็บเกี่ยวรายได้ในช่วงไฮซีซั่น จากจำนวนพื้นที่ที่มากขึ้น และสร้างความหลากหลายด้านสินค้าท่องเที่ยว โดยสิ่งที่ทำให้มั่นใจในการเปิดประเทศคือความสามารถในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลและขีดความสามารถในการฉีดวัคซีน โดยพื้นที่นำร่องเปิดประเทศจะต้องจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว (Command Center) ด้วย

หลังเผชิญวิกฤติโควิดมานานกว่า 1 ปีครึ่ง เราต้องช่วยกันค่อยๆ เปิดประเทศเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ด้วยมาตรการที่เคร่งครัด เพราะหากไม่ทำ อาจเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามา อาจจะบั่นทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยในระยะยาว เป็นภารกิจที่ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมด้วยช่วยกัน!!"

ด้านแนวโน้มตลาดไทยเที่ยวไทยปีนี้ ททท.วางเป้าไว้ว่าขอให้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือเท่ากับปีที่แล้ว โดยตั้งเป้าที่ 90-100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท เนื่องจากปีนี้เจอวิบากกรรมการระบาดของโควิด-19 ทั้งระลอก 2 และระลอก 3

ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ด้านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และโครงการทัวร์เที่ยวไทย น่าจะดำเนินการได้เร็วที่สุดในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ หลังได้หารือกับทางธนาคารกรุงไทย แต่ทางนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มอบหมายให้ดูว่าสามารถร่นระยะเวลาเริ่มดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการได้เร็วขึ้นกว่านี้หรือไม่ แต่ถ้าเร็วกว่านั้นไม่ได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ททท.ก็จะจัดโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วให้เดินทางท่องเที่ยวได้อย่างมั่นใจ ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม และการทำโปรโมชั่นร่วมกับสายการบิน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือคนไทยบางส่วนยังไม่เดินทางเพราะยังรอฉีดวัคซีนกันอยู่