ส่องแนวคิด ‘ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์’ เมื่อลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

ส่องแนวคิด ‘ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์’ เมื่อลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

หน้าประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ปรากฎชื่อของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอยู่หลายปี หากแต่ยังไม่มีทายาทคนใดเข้าสู่เวทีการเมือง ทว่าลูกไม้ใช่จะหล่นไกลต้นเพราะในแง่คมคิด "ณภัทร"ลูกชายคนโตมีแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ

เวทีเสวนาทางแอพพลิเคชั่น "Clubhouse" ในหัวข้อ วัคซีนมาแบบนี้ ไทยจะเปิดประเทศอย่างไร? ที่จัดโดย “Nation Group” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นอกจากการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะการจัดสรรวัคซีน การเตรียมความพร้อมเปิดประเทศจากมุมมองที่หลากหลาย

บุคคลหนึ่งที่ให้ข้อคิดเห็น และข้อมูลใหม่ๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ความจำเป็นของการเปิดประเทศ แนวทางการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจำเป็นต้องมี “Protocol”ที่ชัดเจนเป็นขั้นตอน รวมถึงขยายแนวความคิดไปถึงการวางแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19

บุคคลนั้นคือ “ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” Founder & CEO แห่ง Siametrics พ่วงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แห่งสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future ) 

“ณภัทร” แม้โดยชื่อของเขาเองอาจยังไม่ปรากฎในแวดวงของสื่อ และสาธารณะมากนักแต่หากบอกว่าเขาคือลูกชายคนโต หัวแก้วหัวแหวนของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยุค คสช.ต่อเนื่องมาถึงหลังการเลือกตั้งในสมัย “ครม.ประยุทธ์ 1”หลายคนก็จะอาจจะไม่แปลกใจเพราะทั้งบุคคลิก ลักษณะ และคมความคิดมีส่วนคล้ายกับ ดร.สมคิดอยู่ไม่น้อย 

สำหรับประวัติการศึกษาและการทำงานของณภัทรเขาจบการศึกษาปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล และจอนส์ ฮอปกินส์  และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่ Harvard Kennedy School และที่ธนาคารโลก 

ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูล (Data) มีค่าเสมือนทองคำเขาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจในสาขาอาชีพ “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” หรือ “Data Strategist” ในช่วงปี 2561 เขาได้ก่อตั้งบริษัท“Siametrics Consulting” ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาการสร้างคุณค่าแก่องค์กรด้วยข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วมีผลงานการวิจัยด้านข้อมูลที่น่าจับตามอง ประสบการณ์และความสามารถของเขาจึงเข้ามาช่วยเสริมให้การทำงานของสถาบันอนาคตไทยศึกษาที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากก้าวไปข้างหน้าได้มากขึ้น 

โดยในโปรไฟล์ของณภัทรในเว็บไซด์ของสถาบันอนาคตไทยศึกษาได้บอกว่าเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์บิ๊กดาต้าและ “Tech Entrepreneur” ผู้เชื่อในการขับเคลื่อนอนาคตไทยด้วยหลักฐานเชิงข้อมูลและความร่วมมือระหว่างคนต่างวัยต่างหน่วยงานต่างหน้าที่ แต่อนาคตเดียวกัน

 

162340433314

 

ในเวทีเสวนาฯณภัทรบอกว่าการรับมือกับโรคระบาดมีหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องเอาข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งต้องให้มีความชัดเจน เช่นในเรื่องของวัคซีนพาสปอร์ตที่เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องสร้างความชัดเจน ในประเทศไทยมีทีมที่มีความเก่งๆชัดมากเข้ามาช่วยกันในภาคประชาชนและเอกชนทำงานอย่างจริงจังและมีเป้าหมายร่วมกันต้องช่วยกันทุกฝ่าย

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นทุนของความสับสน นั้นเป็นต้นทุนทีสูงมากว่าเราจะทำอะไรต่อไปในการสู้กับโรคระบาดเกินกว่าอาชีพใดอาชีพหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะทำได้โดยลำพังที่จริงแล้วจะต้องคิดแบบวิศวะกรรมเป็นระบบ การเปิดแล้วก็ต้องวางแผนคิดให้รอบครอบว่าจะเสี่ยงกับการเกิดระบาดรอบใหม่หรือเปล่าเพราะนอกจากภาคท่องเที่ยวมีอีกหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจที่รอการฟื้นตัวอยู่เช่นกัน”ณภัทร กล่าว

สำหรับการเปิดประเทศที่จะเริ่มจากภูเก็ตแซนด์บ็อกนั้นจะต้องมีการสื่อสารที่รอบครอบและมีความชัดเจน ซึ่งแม้ภาคท่องเที่ยวจะเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก เพราะการท่องเที่ยวคิดเป็น15%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)การล็อคดาวน์ ปิดรับนักท่องเที่ยวจะกระทบแรงงานจำนวนมากแรงงานในภาคการท่องเที่ยวจะไม่มีรายได้และกระทบการจ่ายหนี้การเปิดประเทศจึงมีความสำคัญเป็นทางออกระยะสั้นให้กับระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามการเปิดประเทศนั้นต้องมีรูปแบบและข้อปฏิบัติ และการวางแผนที่ชัดเจนต้องไม่ให้มีความเสี่ยงเพราะจากโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่คำนวณพบว่าหากเริ่มเปิดประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2565 และเปิดการท่องเที่ยวให้ประเทศที่ได้รับวัคซีนจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทยคาดว่าประเทศไทยจะได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท แต่หากมีการเกิดการระบาดแล้วต้องล็อกดาวน์เหมือในช่วงการเกิดการระบาดในระลอกที่ 1 ก็จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทเช่นกันซึ่งต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบในส่วนนี้

ทั้งนี้การระบาดของโควิดจะประมาทไม่ได้เพราะความไม่เพียงพอของระบบสาธารณสุขในอิตาลีและอินเดียเกิดขึ้นแล้วหากมีการระบาดมากระบบสาธารณสุขของไทยก็มีความเสี่ยงมากเช่นกันจึงต้องเร่งการฉีดวัคซีนขณะที่การเกิดการภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเชื้อกลายพันธุ์ตลอดเวลาที่สำคัญในเรื่องของการจัดการวัคซีนเป็นสิ่งที่ต้องมีแผนระยะกลางและระยะยาวซึ่งต้องครอบคลุมทั้งนักท่องเที่ยวและแรงงานด้วยส่วนการเปิดการท่องเที่ยวที่ภาคธุรกิจจะอยู่รอดได้จะเป็นการเปิดแบบโรงแรม เพราะเปิดแบบน้อยเกินไปไม่ได้เปิดปุ๊บขาดทุนปั๊บเพราะเปิดน้อยห้องเกินไปก็มีโอกาสขาดทุนมากขึ้นเช่นกัน

ส่วนในอนาคตหากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้ต้องดูโมเดลเศรษฐกิจแบบที่ “ทำน้อยได้มาก” ในช่วงโควิด-19 บางคนกลับไปอยู่ในชนบท ไปทำอาชีพอื่นๆและค้นพบทักษะและความชอบที่ไม่เคยมี ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีหากรัฐบาลจะสามารถสนับสนุนเม็ดเงินบางส่วนลงไปให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่และหน้าเก่าเข้าสู่การค้าแบบออนไลน์ ซึ่งถ้ารวมได้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

ฟังแนวคิดของณภัทรแล้วสรุปได้ว่าแม้เขาจะไม่ได้เลือกเส้นทางทางการเมืองเหมือนกับ ดร.สมคิด แต่แนวคิดในเรื่องเศรษฐกิจของเขานั้นถือได้ว่าเขาเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นมากนัก