กรุงเทพฯ ติดอันดับ 3 เมืองที่ผู้คนทำงานหนักที่สุดในโลก!

กรุงเทพฯ ติดอันดับ 3 เมืองที่ผู้คนทำงานหนักที่สุดในโลก!

ผลสำรวจชี้ "กรุงเทพฯ" ติดอันดับ 3 เมืองที่ผู้คนเมืองทำงานหนัก และขาดสมดุลในการใช้ชีวิตมากที่สุดในโลก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้การทำงานล่วงเวลานำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยมีตัวเลขผู้เสียชีวิต 7 หมื่นรายต่อปี

เมื่อไม่นานมานี้ มีผลสำรวจของ Kisi  บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ที่ได้ทำผลสำรวจทั่วโลกในหัวข้อ “Cities with the Best Work-Life Balance 2021” เพื่อค้นหาว่าเมืองไหนในโลกที่มีการทำงานที่สมดุลที่สุดแห่งปี 2021 และอีกหัวข้อคือ " Cities with the  Overworked 2021” หรือเมืองที่มีประชากรที่มีชั่วโมงการ "ทำงาน" ที่ยาวนาน และชีวิตไลฟ์สไตล์ขาดความสมดุลมากที่สุด

โดยผลสำรวจเมืองที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และชีวิตคนในเมืองขาดความสมดุลมากที่สุดในโลก พบว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยติดอันดับ 3 ของผลสำรวจชุดนี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกของวัยทำงานชาวกรุง 

  • เช็ค 5 อันดับ "เมืองที่มี "ชั่วโมงทำงาน" ยาวนานที่สุดในโลก

สำหรับ 5 อันดับเมืองที่เมืองที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและชีวิตคนในเมือง ขาดความสมดุลมากที่สุดในโลก มีดังนี้     

  • อันดับ1 ฮ่องกง : ประเทศจีน
  • อันดับ2 สิงคโปร์ : ประเทศสิงโปร์
  • อันดับ3 กรุงเทพ : ประเทศไทย
  • อันดับ4 บัวโนสไอเรส :ประเทศอาร์เจนตินา
  • อันดับ5 โซล : ประเทศเกาหลีใต้
  • เช็ค 5 อันดับ "เมืองที่มี Work-Life Balance ที่สุดในโลก"

กลับมาที่ การจัดอันดับของ  Kisi  บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ยังได้มีการจัดอันดับ 5 อันดับแรกเมืองที่มีการทำงานสมดุลดีที่สุดในโลก ซึ่งเมืองจากประเทศสแกนดิเนเวีย ติดเข้ามาถึง 4 เมือง ได้แก่

  • อันดับ1 เฮลซิงกิ :ประเทศฟินแลนด์
  • อันดับ2 ออสโล :ประเทศนอร์เวย์
  • อันดับ3 ซูริค :ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  • อันดับ4 สตอกโฮล์ม : ประเทศสวีเดน
  • อันดับ5 โคเปนเฮเก้น : ประเทศเดนมาร์ก

โดยมี เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมืองเดียวที่ไม่ได้อยู่ในสแกนดิเนเวีย แต่เข้ามาติดอันดับเมืองแห่งความสมดุลของการทำงานได้

 

  • ปัจจัยที่นำมาจัดอันดับ พิจารณาที่อะไร?

Kisi  บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ใช้หลากหลายปัจจัยมาวิเคราะห์ในการมาจัดอันดับ  ซึ่งรวมๆ แล้ว มี 18 ปัจจัยในการรวมดัชนี เช่น ตั้งแต่ชั่วโมงการทำงาน จำนวนวันลาขั้นต่ำ สิทธิในการลาคลอดหรือเลี้ยงดูลูก รวมไปถึงปัจจัยสนับสนุนด้านอื่นๆ ในแต่ละเมือง เช่น การเข้าถึงระบบสาธารณสุขในเมือง ผลกระทบและการเยียวยาในยุคโควิด-19 ความปลอดภัยในเมือง คุณภาพของอากาศในเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดในการวิเคราะห์ว่าทำงานหนักมากเกินไปหรือไม่นั้น ต้องดูที่ "ช่วงระยะเวลาในการทำงาน"  โดยงานวิจัยนี้วางมาตรฐานของการทำงานเอาไว้ว่า หากใครที่ทำงานตั้งแต่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปจะถือว่าเป็นคนที่ทำงานหนัก (Overworked) 

คิดง่ายๆ คือ การทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งหากคำนวณออกมาแล้วพบว่าคนกรุงเทพฯ ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

 

ทำงานที่สมดุล ต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์

งานวิจัยชิ้นนี้อ้างอิงข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ International Labour Organization (ILO) ที่ระบุว่า การทำงานที่สมดุลคือการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หรือคิดเป็นการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานเพียง 5 วันต่อสัปดาห์ ดังนั้น หากทำงานด้วยชั่วโมงการทำงานที่น้อยกว่านี้ ก็หมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้การทำงานที่ยาวนานเกินกว่าที่ร่างกายและจิตใจจะรับไหว ยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้พยายามลดความเครียดลง แต่กลับเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายต่อสุขภาพทั้งสิ้น เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ , ขาดการออกกำลังกาย และการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ

 

ผลสำรวจสอดคล้องกับข้อมูลของ WHO 

องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งจะเปิดเผยข้อมูลว่า การทำงานล่วงเวลา ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวและเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ และทำให้ชีวิตไร้สมดุล

คนที่ทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้นประมาณร้อยละ 35 และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานสัปดาห์ละ 35 - 40 ชั่วโมง  

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2021 ซึ่งชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตกว่า 70,000 รายต่อปี แม้ว่าการทำงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง แต่การทำงานล่วงเวลาได้นำไปสู่อัตราการเกิดโรคร้ายมากขึ้น เช่น หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง

ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ และภาคธุรกิจหาวิธีปกป้องสุขภาพของคนทำงานให้มากขึ้น

อีกทั้งในการศึกษานี้ ยังมีคำแนะให้นายจ้างมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการกำหนดเวลาและตกลงกับพนักงานเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงการทำงานสูงสุด เพื่อไม่ให้พนักงานต้องทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์

 

ที่มา : springnews