'ซีฮอร์ส เฟอร์รี่' ลุยโปรเจกต์ ขนส่งความมั่งคั่งอีอีซี-สงขลา

'ซีฮอร์ส เฟอร์รี่' ลุยโปรเจกต์ ขนส่งความมั่งคั่งอีอีซี-สงขลา

ข้อมูลการขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ช่วง ม.ค. -มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)

มีจำนวนขอจดทะเบียนทำธุรกิจใหม้ 644 ราย คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 994 ล้านบาท ทำให้ในพื้นที่ SEC มีธุรกิจคงอยู่สูงถึง 25,423 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวมกัน 142,072 ล้านบาท 

ขณะที่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีมีธุรกิจเกิดใหม่ช่วงเดียวกันจำนวน 1,840 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวมกัน 4,165 ล้านบาทและทำให้ อีอีซี มีธุรกิจคงอยู่ จำนวน 74,267 ราย ทุนจดทะเบียนรวมกัน 1,981,254 ล้านบาท มูลค่าทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่พิเศษทั้งสองแห่งชี้ถึงการขับเคลื่อนทางธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และหากนำความมั่งคั่งของสองพื้นที่มารวมกันจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตามอง โครงการเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวระหว่างท่าเทียบเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี กับท่าเทียบเรือสวัสดิ์ จังหวัดสงขลา จึงเกิดขึ้น 

วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า  เปิดเผยว่า ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ต้องการเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน เพื่อแก้ปัญหาการจรารทางบกติดขัด ซึ่งกรมเจ้าท่าผลักดันเส้นทางเดินเรือเชื่อมภูมิภาคเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองเดินเรือในเส้นทางเชื่อมทะเลใต้และพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเส้นทางแรกของไทย คือ ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด - ท่าเทียบเรือสวัสดิ์ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีเอกชน บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ตอบรับเดินเรือในเส้นทางดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อขนส่งสินค้าข้ามภูมิภาค ใช้เป็นเส้นทางประตูการค้าและการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเอกชนได้นำเรือ The Blue Dolphin เข้ามาทดสอบการเดินเรือแล้ว เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเดินเรือจากท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไปยังท่าเรือสวัสดิ์ จังหวัดสงขลา ในระยะทางประมาณ 325 ไมล์ทะเล ใช้ความเร็วมัธยัสถ์ที่ 17 น็อต เข็มการเดินเรือประมาณ 185 องศา เดินทางถึงปากร่องน้ำสงขลาเวลาประมาณ 08.00 น.ของวันที่ 19 พ.ค. 2564 ใช้เวลาประมาณ 21 ชั่วโมง 30 นาที และลอยลำรอรับการนำร่องเพื่อทดสอบการนำเรือเข้าเทียบท่า

“ตอนนี้กรมฯ อยู่ในขั้นตอนสรุปผลการทดสอบเดินเรือ The Blue Dolphin ดูเรื่องระบบความปลอดภัย การเข้าเทียบท่า ก่อนที่จะให้เอกชนเปิดเดินเรือบริการประชาชน แต่จากที่ประเมินตอนนี้ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาตติดขัด เส้นทางเดินเรือสายนี้จะให้บริการและเป็นทางเลือกใหม่ในการขนส่งสินค้า หรือท่องเที่ยว”

วิทยา ยังเผยด้วยว่า จากการหารือร่วมกับเอกชนในเบื้องต้น ทราบว่าแผนธุรกิจระยะแรก ทางซีฮอร์สจะให้บริการเดินเรือเฉพาะกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้า จะเดินเรือขนส่งประเภทรถเทรลเลอร์ เพื่อลดระยะเวลาการขนส่งเชื่อมต่อระหว่างอีอีซีและภาคใต้ ซึ่งจะเป็นประตูการค้าไปต่างประเทศ

หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย หรือมีความชัดเจนในเรื่องของการเดินทางข้ามจังหวัดที่ต้องตรวจคัดกรองตามมาตรการด้านสาธารณสุข ทางเอกชนจึงจะเปิดเดินเรือรองรับประชาชนเป็นการทั่วไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางในรูปแบบใหม่ๆ นอกจากนี้ เอกชนมีแผนเพิ่มขีดความสามารถโดยหลังการเปิดบริการเดินเรือเฟอร์รี่ลำแรก หากมีปริมาณผู้โดยสารสูงถึง 60% มีแผนจะลงทุนเรือเฟอร์รี่เพิ่มอีก 1 ลำ

สำหรับเรือ The Blue Dolphin มีหมายเลขทะเบียนเรือ 640000020 ขนาดความยาว 136.6 เมตร กว้าง 21 เมตร ขนาด 7003 ตันกรอส สามารถบรรทุกรถ 10 ล้อ ได้ครั้งละ 80 คัน รถยนต์ส่วนบุคคลได้ 15-20 คัน คนประจำเรือ 30 คน บรรทุกคนโดยสารได้ 586 คน โดยสามารถทำความเร็วได้ประมาณ 18-20 น็อต

ผลการทดสอบเดินเรือออกจากท่าเทียบเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ในระยะทางประมาณ 325 ไมล์ทะเล ใช้ความเร็วมัธยัสถ์ที่ 17 น็อต เข็มการเดินเรือประมาณ 185 องศา เดินทางถึงปากร่องน้ำสงขลาเวลาประมาณ 08.00 น.ของวันที่ 19 พ.ค. 2564 ใช้เวลาประมาณ 21 ชั่วโมง 30 นาที และลอยลำรอรับการนำร่องเพื่อทดสอบการนำเรือเข้าเทียบท่า ซึ่งเจ้าหน้าที่นำร่องได้ปฏิบัติการนำร่องในเรือเวลา 09.00 น. สามารถนำเรือ The Blue Dolphin เข้าเทียบที่ท่าเรือสวัสดิ์ จังหวัดสงขลา เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเวลาประมาณ 11.00 น.

162151433662

ทั้งนี้ เรือ The Blue Dolphin มีแผนการเดินเรือในเส้นทางระหว่างจังหวัดชลบุรี-จังหวัดสงขลา โดยออกเดินทางจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบไปยังจังหวัดสงขลา และจะขยายเส้นทางเชื่อมโยงเข้ากับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำเส้นทางนี้จะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงอีอีซี เข้ากับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor, SEC) ช่วยเพิ่มศักยภาพของการขนส่งทางน้ำ ลดต้นทุนและอุบัติเหตุจากการขนส่งทางบก และลดปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยั่งยืน

สำหรับท่าเรือจุกเสม็ด ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ มีท่าเรือด้วยย่อยในพื้นที่ 6 ท่า โดยในท่าเรือที่ 1-3 ใช้ในการจอดเรือรบ ส่วนที่เหลือเป็นท่าเรือที่ใช้ขนส่งน้ำมันและพัฒนาเป็นท่าเรือพาณิชย์รองรับโครงการอีอีซี ซึ่งเฟสแรกกองทัพเรือได้ปรับปรุงท่าเรือหมายเลข 6 ที่มีสะพานท่าเทียบเรือ 2 สะพาน กว้าง 13 เมตร ยาว 75 เมตร รองรับผู้โดยสารได้วันละ 4 พันคน พร้อมกับรองรับเรือเฟอร์รี่ ซึ่งจะมาจาก 3 เส้นทาง คือ1.เส้นทางสัตหีบ-หัวหิน-ปราณบุรี 2.เส้นทางสัตหีบ-เกาะช้าง-สีหนุวิลล์ (กัมพูชา) -นครโฮจิมินห์ (เวียดนาม) และ 3.เส้นทางสัตหีบ-เกาะสมุย-สิงคโปร์

รวมทั้งได้ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเฟอร์รี่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับผู้โดยสารวันละ 1.2 พันคน บนพื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารผู้โดยสารพื้นที่ใช้สอย 6 พันตารางเมตร ใช้รองรับผู้เดินทางท่องเที่ยว และขนส่งรถยนต์ พร้อมกับปรับปรุงส่วนขึ้นลงเรือเฟอร์รี่ของผู้โดยสาร และรถยนต์บริเวณหน้าท่าเทียบเรือเฟอร์รี่