'เราชนะ' รอบใหม่? จับตา ครม.ถกเยียวยาโควิดรอบใหม่ 'คลัง' ชงแสนล้านต่อมาตรการ

'เราชนะ' รอบใหม่? จับตา ครม.ถกเยียวยาโควิดรอบใหม่ 'คลัง' ชงแสนล้านต่อมาตรการ

รัฐบาลเตรียมคลอดเยียวยาโควิดรอบใหม่ “คลัง”ชง ครม.เคาะแนวทางบรรเทาผลกระทบประชาชน เล็งต่อ “เราชนะ” เพิ่ม 1-2 เดือน สำนักงบฯ เผยงบกลาง-งบเงินกู้ใช้ดูแลโควิดได้ 2.6 แสนล้าน ไม่ปิดทางกู้เพิ่ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 เม.ย.2564 กระทรวงการคลังจะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ให้ ครม.พิจารณา เพราะประเมินว่าผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบประชาชนวงกว้าง โดยการระบาดรุนแรงและกระจายไปทุกจังหวัด ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพและทำให้บางกลุ่มขาดรายและได้รับความเดือดร้อน

ส่วนมาตรการที่จะเสนอให้เยียวยาประชาชนเบื้องต้นคล้ายมาตรการที่ใช้เมื่อมีระบาดครั้งที่ผ่านมา โดยจะเสนอต่ออายุมาตรการ เราชนะ อีก 1-2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.2564 เป็นสิ้นสุดเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ซึ่งจะใช้วงเงิน 1-2 แสนล้านบาท โดยจ่ายตรงให้กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้น้อยและดำเนินการต่อเนื่องได้เร็ว 

ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบในหลักการให้มีมาตรการเยียวยาประชาชนรอบใหม่ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบโยกงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ปัจจุบันเหลือไม่มากให้มาอยู่ในวงเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

สำหรับมาตรการ “เราชนะ” เป็นการช่วยเหลือประชาชนด้วยการจ่ายเงินเยียวยาที่ต่อยอดมาจากมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” เมื่อปี 2563 โดยมาตรการ “เราชนะ” ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2564 จ่ายเงินให้ผู้มีอาชีพอิสระคนละ 3,500 บาทต่อเดือน รวม 2 เดือน มีผู้ได้รับ 30 ล้านคน รวมวงเงิน 2.1 แสนล้านบาท  

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจกำลังหารือร่วมกัน ซึ่งจะมีมาตรการออกมาเยียวยาประชาชนออกมา แต่ขอรอความชัดเจนในรูปแบบมาตรการ 

“การระบาดรอบนี้กระทบทั่วประเทศ ไม่ต่างจากในครั้งที่ผ่านมาที่ผู้ได้รับผลกระทบก็ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ แต่อยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ ขอให้รอดูรูปแบบมาตรการที่จะออก ซึ่งหลายฝ่ายกำลังทำงานร่วมกัน” 

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ปัจจุบันวงเงินสำหรับดูแลผลกระทบจากโควิด-19 เหลือ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

1.งบตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เหลือวงเงิน 2 แสนล้านบาท

2.งบกลางในปี 2564 ตั้งไว้ 1.39 แสนล้านบาท ใช้สำหรับรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางสำหรับโควิด 4 หมื่นล้านบาท 

ปัจจุบันงบกลางรายการสำรองจ่ายฯ ใช้ไปแล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 8 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนคืองบกลางโควิดคงเหลือ 2 หมื่นล้านบาท โดย 2 หมื่นล้านบาทที่ใช้ไปสำหรับมัดจำวัคซีน และอีกส่วนไปเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมแล้วงบกลางที่คงเหลือทั้ง 2 ส่วนที่ใช้ได้ 1 แสนล้านบาท 

“งบกลางที่เหลือ 1 แสนล้านบาท ใช้เยียวยาโควิดได้ 5-6 หมื่นล้านบาท เพราะสำนักงบประมาณต้องกันงบกลางบางส่วนรองรับภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือภัยอื่น 4-5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นรวมแล้วเมื่อดูงบเงินกู้และงบกลางใช้เยียวยาประชาชนได้อยู่ที่  2.5-2.6 แสนล้านบาท” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว