พาณิชย์ชี้ค้าออนไลน์ไทยโตต่อ ห่วง“แพลตฟอร์ม”ยักษ์ครองตลาด

พาณิชย์ชี้ค้าออนไลน์ไทยโตต่อ  ห่วง“แพลตฟอร์ม”ยักษ์ครองตลาด

ผลต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คือพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปทั้งในช่วงการระบาดและประเมินว่าน่าจะเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างถาวร นั่นคือการซื้อสินค้าและบริการผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ช

ผลต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คือพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปทั้งในช่วงการระบาดและประเมินว่าน่าจะเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างถาวร นั่นคือการซื้อสินค้าและบริการผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ช ซึ่งตอบโจทย์พฤติกรรมบริโภคได้อย่างหนึ่งนั่นคือ ความสะดวกสบาย ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์กำลังจะชี้ว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ 

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า สถิติการการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตามจำนวนของร้านค้าออนไลน์สะสมจนถึงปี 2563 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 58,423 ราย เมื่อพิจารณาสถิติการจดทะเบียนรายปีจะพบว่า มีจำนวนการจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2559 จำนวน 6,051 ราย ปี 2560 จำนวน 7,811 ราย ปี 2561 จำนวน 9,648 ราย ปี 2562 จำนวน 10,747 ราย และล่าสุดปี 2563 จำนวน 12,883 ราย ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าแนวโน้มจำนวนการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ปีละ 2 %

สำหรับในปี 2564 สถิติการจดทะเบียน ในเดือนม.ค. 2564 มีจำนวน 1,435 ราย และเดือนก.พ. 2564 มีจำนวน 1,471 ราย ซึ่งจากแนวโน้มของจำนวนสถิติดังกล่าวสามารถคาดการณ์ได้ว่าในปี 2564 จะมีจำนวนสถิติการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่า 15,000 ราย ถือได้ว่าเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอบรับกับกระแสการค้าออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน 

ทั้งนี้การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการจดทะเบียนเพื่อรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ได้ยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงในการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะออกเครื่องหมาย DBD Registered ให้ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อนำไปแสดงไว้บนร้านค้าออนไลน์ เมื่อผู้บริโภค (ผู้ซื้อ) เห็นเครื่องหมาย DBD Registered แล้วจะเกิดมั่นใจในการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น หากเกิด ข้อพิพาทจากการซื้อสินค้า/บริการ สามารถติดตามหาตัวผู้ประกอบธุรกิจและแจ้งกรมเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันที

161631706515

อีคอมเมิร์ชคุมสัดส่วนการค้าโลก

นายทศพล กล่าวว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามปรากฏการณ์ “New Normal” ที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี พ.ศ. 2563 ทำให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เข้ามามีบทบาททางการค้าของโลกมากขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดของความต้องการ (Demand) สินค้าและบริการที่มีลดลง จึงทำให้การเติบโตของ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในปี พ.ศ. 2563 เติบโตเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่ต่ำกว่าปี พ.ศ. 2562 จากรายงานของ Global E-commerce 2020 พบว่า มูลค่าตลาด E-Commerce แบบ B2C ของโลกในปี พ.ศ. 2563 คาดว่าจะมีมูลค่า 3.914 ล้านล้านดอลลาร์ ประมาณ 117.42 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 ที่มีมูลค่า 3.361 ล้านล้านดอลล่าร์ ประมาณ 100.83 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 16.5 % และคาดการณ์ว่าจะเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 4 ปีข้างหน้า ถึงแม้การเติบโตในปี พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของปีที่ผ่านมา คือ เพิ่มขึ้น 21.5 % ในปี พ.ศ. 2561 และ 20.2 % ในปี พ.ศ. 2562 แต่มูลค่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปี พ.ศ. 2563 กลับมีสัดส่วนต่อมูลค่าการค้าปลีกโลก สูงกว่าสัดส่วนดังกล่าวในปี พ.ศ. 2562 ในอัตรา 16.5%  เทียบกับ13.6% ซึ่งเป็นสัดส่วนการค้าปลีกโลก 

ส่วนภาพรวมตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย จากรายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยปี พ.ศ. 2562 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า ในปี 2562 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีค่าเท่ากับ 4,027,277.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 3,767,045.45 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6.91% ซึ่งที่ผ่านมามีการเติบโตเพิ่มขึ้น ทุกปี

คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2563 จากพฤติกรรม New Normal ที่ส่งผลต่ออัตราเติบโตที่สูง แบบก้าวกระโดด ทั้งนี้ ในปี 2562 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (Enterprises) เท่ากับ 2,208,528.63 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีมูลค่า 1,199,418.89 ล้านบาท และผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2561 ในอัตราที่มากกว่า SMEs เช่นกัน

โดยสามารถจำแนกมูลค่าตลาดในปี พ.ศ. 2562 ได้เป็น 3 ประเภท คือ 

-1. E-Commerce แบบ B2B จานวน 1,910,754.36 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 สัดส่วน 6.11%  

-2. E-Commerce แบบ B2C จำนวน 1,497,193.15 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 สัดส่วน 6.11%

-3. E-Commerce แบบ B2G จำนวน 619,330.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 สัดส่วน 11.53% 

แพลตฟอร์มยักษ์แชมป์ทำยอดขายสูง

จากมูลค่าดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบระหว่างพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละประเภทกับมูลค่ารวมแล้วพบว่า ในปี 2562 มูลค่าของ B2B มีสัดส่วนมากที่สุดคือ 47.44% รองลงมาคือ B2C ที่มีสัดส่วน 37.18% และที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดคือ B2G ที่มีสัดส่วนเพียง 15.38% ตามลำดับ

นอกจากนั้น ยังมีช่องทางตลาด E-Commerce อีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค (Customer to Customer: C2C) เป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง ผ่านช่องทางแพลตฟอร์ม E-Commerce และโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook Instagram Line Line@ และ Twitter

โดยในปี 2562 ช่องทางที่สร้างยอดขายมากที่สุด 5 อันดับแรก สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่ Facebook, Google Ads, Line, Instagram และ YouTube สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ Line, Facebook, Instagram และ Google Ads ตามลำดับ

 “พฤติกรรมผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่มีต่อการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยขยายตัวค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ คนไทยมีแนวโน้มการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของจำนวนผู้ใช้งานและระยะเวลาการใช้งานเฉลี่ย”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หลังโควิค-19 มีแนวโน้มเติบโตมาก สะท้อนจากการเกิดขึ้นของเพลตฟอร์มออนไลน์ที่มากขึ้น อีกทั้งการที่รัฐบาลโอนเงินผ่านแอพลิเคชั่นเป๋าตังเพื่อใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเราชนะ คนละครึ่ง ทำให้ประชาชนคุ้นชินกับกับการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แม้ว่าวงเงินการใช้จะไม่สูงมากนัก ขณะเดียวกันคนที่มีเงินก็ใช้เงินผ่านบัตรเครดิตที่มีวงเงินสูงก็มีมากขึ้นเช่นกัน

ปัจจุบันรูปแบบของธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เริ่มมีการปรับตัวมากขึ้นสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในตัวสินค้า การส่งสินค้า การรีวิวสินค้า ก็ยิ่งให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเข้าถึงสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม โดยตัวเลขการเติบโตธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตนยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่าเท่าไร แต่คาดว่า ในแต่ละปีมูลค่าการค้าน่าจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก