ทำไม ‘บอนด์สหรัฐ‘ ขาลง แต่ ‘หุ้นไทย’ ขาขึ้น

ทำไม ‘บอนด์สหรัฐ‘ ขาลง แต่ ‘หุ้นไทย’ ขาขึ้น

เปิดบทวิเคราะห์ ทำไม "บอนด์สหรัฐ" ขาลง แต่ "หุ้นไทย" กลับเป็นขาขึ้น และกระทบต่อ Fund Flow ที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างไร?

หลังจากเกิดสิ่งที่เรียกว่า Inflation Panic โดยเดิมที เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐควรจะเติบโตเกินระดับที่เต็มศักยภาพหรือ Potential Output ไว้ก่อนดีกว่า เพราะว่าเฟด ณ ตอนนี้ เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เงินเฟ้อ 

แต่แล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พาวเวลเริ่มพูดถึงเงินเฟ้อสหรัฐว่าน่าจะได้เห็นบ้างในปีนี้ เลยทำให้ตลาดกังวลว่าเฟดอาจจะเริ่มขยับนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายน้อยลงเร็วกว่าที่คาดไว้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือตลาดเริ่มจะตระหนกจากท่าทีใหม่ของพาวเวล

คำถามคือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะกระทบต่อ Fund Flow ที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างไร? หากพิจารณาจากกระแสเงินไหลเข้าออกของตลาดเกิดใหม่ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น พบว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เริ่มจะไหลออกเป็นครั้งแรกแล้วในรอบเวลาเกือบ 4 เดือน

อย่างไรก็ดี สำหรับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยนั้น นับว่ามีความโชคดีหลายประการที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยได้รับประโยชน์จากการที่โควิดเริ่มที่ผ่านจุดสูงสุด หลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะมีสัดส่วนการฉีดไปมากเมื่อเทียบกับประชากรแล้ว อย่างประเทศพัฒนาแล้วในสหรัฐหรืออังกฤษ หรือว่าจะมีสัดส่วนการฉีดยังน้อยอย่างประเทศกำลังพัฒนาอย่างในอาเซียนรวมถึงไทย ดังนี้

1.การที่ไทยมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประชากร นับว่าเป็นความโชคดีที่ทำให้ไม่มีแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในไทย เพราะทุกคนยังกังวลไม่กล้าใช้จ่ายแบบเต็มที่ ส่งผลให้ผู้ผลิตไม่กล้าขยับราคา ซึ่งทำให้ไม่มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของไทยในเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ย 

ด้วยเหตุผลของแรงกดดันเงินเฟ้อในไทย ทว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยก็ยังเพิ่มขึ้นจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบปราศจากความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกรวมถึงไทย ใช้เป็นอัตราอ้างอิง อย่างไรก็ดี ก็ยังถือว่าไม่ได้ขึ้นเยอะ รวมถึงแนวโน้มก็น่าจะขึ้นอีกไม่มากในช่วงนี้เหมือนกับสหรัฐ ทำให้ในแง่ของส่วนคิดลดหรือ discount rate ของการประเมินมูลค่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก จึงแทบไม่ได้ส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นไทยจากปัจจัยนี้ ซึ่งต่างจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

2.ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่เซกเตอร์พลังงานมีสัดส่วนสูงที่สุดในมิติของมูลค่ารวมตลาดหุ้น หรือ market capitalization โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จากการที่ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งเพิ่มกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ดัชนีของตลาดหุ้นไทยในเซกเตอร์พลังงานพุ่งขึ้นมาตามราคาน้ำมันดิบ จึงส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยขยับตัวขึ้นมาสวนกับตลาดบอนด์และตลาดหุ้นสหรัฐ หรือแม้กระทั่งเทียบกับตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ด้วยกันเองก็ตาม

3.ช่วงโควิดที่เริ่มต้นมาเมื่อ 1 ปีก่อน เศรษฐกิจไทยโดนผลกระทบมากกว่าเพื่อน เนื่องจากมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวของบ้านเราเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีรวมถือว่าเกือบสูงสุดที่สุดของโลก ดังรูป ณ นาทีนี้ ซึ่งภาคท่องเที่ยวที่เส้นกราฟเริ่มที่พ้นจากจุดต่ำสุดและกำลังค่อยๆ จะเริ่มผงกขึ้นมาเป็นกราฟขาขึ้นนั้น 

การที่บ้านเรามีน้ำหนักจากภาคท่องเที่ยวสูงที่สุดเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าเศรษฐกิจของเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ภาคบริการของบ้านเราที่จะดีขึ้นเร็วหากโควิดจางลง ถือว่าใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับจีดีพีรวม หากเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ยกเว้นเพียงสิงคโปร์

นอกจากนี้ มิติการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.จะรับมือเรื่องนี้ได้อย่างไรนั้น จากสถานการณ์บอนด์ยิลด์สหรัฐที่เป็นอยู่ในขณะนี้นั้น ผมมองว่า ธปท.น่าจะสามารถทำงานได้ง่ายลง เนื่องจากไม่ต้องถูกกดดันที่จะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ 

เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐค้ำคออยู่ ซึ่ง ธปท.น่าจะมีมุมมองว่าแบบ baseline ว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินในบ้านเราให้มากกว่านี้ จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงเป็นผลเสียต่ออัตราผลตอบแทนเงินฝาก ซึ่งเป็นส่งผลลบต่อผู้เกษียณอายุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือทำให้ ธปท.มี Room & Time Slack ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินสำหรับช่วงต่อไปในอนาคต

ท้ายสุด สำหรับในส่วนที่ว่าหุ้นเซกเตอร์ไหนเด่น/ด้อยนั้น จากเรื่องบอนด์ยิลด์สหรัฐในตอนนี้ ผมมองว่าหุ้นที่จะได้ผลเชิงบวกจากงานนี้ ได้แก่ หุ้นในเซกเตอร์ธนาคาร เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยบ้านเราที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากแรงกดดันดอกเบี้ยอ้างอิงของสหรัฐ ส่งผลดีต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก หุ้นในเซกเตอร์พลังงาน อย่างกลุ่ม ปตท. เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ยังสูงอยู่จากอุปทานที่ลดลงและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากโควิดที่จางลง และหุ้นในกลุ่มค้าปลีกอย่าง CPALL จากความกังวลโควิดของประชาชนที่ลดลงส่วนหนึ่งจากวัคซีน 

ส่วนหุ้นที่จะได้ผลเชิงลบนั้น ได้แก่ เซกเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ KCE และ HANA ที่เริ่มจะได้รับแรงหนุนหรืออุปสงค์ที่ลดลงจากกิจกรรม work from home ที่ลดลงจากช่วงโควิดหนักๆ

ท้ายสุด สำหรับตราสารหนี้นั้น ผมมองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นน่าจะดีกว่าตราสารหนี้ระยะยาวจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หากเทียบกันระหว่างประเภทตราสารหนี้ ผมมองว่าหุ้นกู้เอกชนน่าจะดีกว่าพันธบัตร เนื่องจากการล้มละลายของบริษัทเอกชนน่าจะลดลงจากการอุ้มของภาครัฐในช่วงโควิด 

นอกจากนี้ หุ้นกู้ประเภทอัตราผลตอบแทนสูง น่าจะดีกว่าหุ้นกู้ประเภทที่มีอันดับเครดิตแบบที่มีอันดับน่าลงทุนเล็กน้อย ด้วยเหตุผลของการอุ้มหรือช่วยเหลือจากภาครัฐนั่นเอง

หมายเหตุ : หนังสือ “หุ้น Avengers : Infinity Stock” ผลงานเล่มที่ 5 ของผู้เขียน วางตลาดที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศแล้ว