ทร.ทุ่ม 1.8 พันล้านดันศูนย์ซ่อม เร่ง 'การบินไทย' จบดีลร่วมทุน

ทร.ทุ่ม 1.8 พันล้านดันศูนย์ซ่อม เร่ง 'การบินไทย' จบดีลร่วมทุน

ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) อู่ตะเภาเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

โดยปัจจุบันแม้การเจรจาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้สิทธิ์ในการบริหารโครงการ ยังไม่สามารถเจรจาจัดหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนได้

ขณะที่การลงทุนของกองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้ประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการพัฒนาเอ็มอาร์โอไปแล้วในปี 2563 พร้อมทั้งผลักดันการประกวดราคา จัดเอกชนผู้รับเหมาแล้วเสร็จ รวม 4 งาน มูลค่ากว่า 1,890 ล้านบาท โดยแผนงานดังกล่าว ประกอบไปด้วย

1.งานจ้างปรับถมดินและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มูลค่า 660 ล้านบาท ซึ่งเอกชนผู้เสนอราคาที่ชนะการเสนอราคา คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยเสนอราคาต่ำสุด 338 ล้านบาท

2.จ้างควบคุมงานถมดินและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน วงเงิน 16.5 ล้านบาท โดยเอกชนผู้ชนะการเสนอราคาได้รับการคัดเลือก ได้แก่ บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด

3.จ้างปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน วงเงิน 1.18 พันล้านบาท ผู้เสนอราคาที่ชนะการเสนอราคา ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่วิศวกรรม โดยเสนอราคาต่ำสุด เป็นเงินทั้งสิ้น 996 ล้านบาท

4.จ้างควบคุมงานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน วงเงิน 29.6 ล้านบาท ผู้ได้รับคัดเลือก ได้แก่ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา อินเด็กซ์ ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์ เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท สแปน จำกัด บริษัท ดีเคต คอนซัลแตนม์ จำกัด และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด

161370260789

แหล่งข่าวจากกองทัพเรือ กล่าวว่า ความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการเอ็มอาร์โอ โดยระบุว่า ในช่วงปลายปี 2563 คณะผู้บริหารการบินไทยได้มาหารือร่วมกับกองทัพเรือ พร้อมทั้งชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนของการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวเป็นไปในทิศทางที่ดี ถึงแม้สถานะของการบินไทยจะเปลี่ยนไป แต่การบินไทยยังยืนยันเจตจำนงในการดำเนินโครงการเอ็นอาร์โอต่อไป รวมทั้งจะเจรจาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ในส่วนของกองทัพเรือไม่มีข้อขัดข้องในการก่อสร้างโครงการเอ็มอาร์โอให้แล้วเสร็จตามแผนงาน โดยขณะนี้งบประมาณปี 2563 ในส่วนของงานออกแบบและถมดิน ได้รับอนุมัติงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกวดราคา และมีการลงนามร่วมกับผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการแล้ว ส่วนงบประมาณปี 2564 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง

เชิดพันธ์ โชติคุณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง การบินไทย ออกมาระบุถึงแผนดำเนินโครงการเอ็มอาร์โอว่า ขณะนี้การบินไทยยังคงแผนลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานตามแผนเดิม โดยปัจจุบันได้เจรจาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีเอกชนสนใจหลายรายแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งการบินไทยจะบรรจุแผนพัฒนาโครงการเอ็มอาร์โอ และแนวทางร่วมลงทุนกับเอกชนไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการที่จะรายงานต่อศาลล้มละลายกลางด้วย

ทั้งนี้ จากการขยับไทม์ไลน์ร่วมลงทุนนที่เกิดขึ้น ภายหลังที่การบินไทยเจรจากับ บริษัท Airbus S.A.S (แอร์บัส) ไม่เป็นผล ตั้งแต่ต้นปี 2563 ประกอบกับเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นเหตุกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน เมื่อเกิดปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลกระทบต่อเป้าหมายการเปิดให้บริการเอ็มอาร์โอ จากแผนเดิมคาดว่าเริ่มเปิดให้บริการราว 2564–2565 อาจจะขยับไปเปิดให้บริการในปี 2567

แม้ว่าปัจจุบัน ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งในส่วนของการศึกษาและเตรียมพื้นที่พัฒนา แต่อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเอ็มอาร์โอยังจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทางเอกชน เนื่องจากบทบาทของการบินไทยที่ได้รับมอบหมายไว้ คือการร่วมทุนกับเอกชน มีหน้าที่เพียงการลงทุนจัดหาเทคโนโลยี เครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมซ่อมอากาศยาน อีกทั้งหลังจากเข้าบริหารจัดการแล้ว การบินไทยและเอกชนผู้ร่วมทุน จะต้องทยอยจ่ายเงินชดเชยค่าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคืนแก่ภาครัฐ

ดังนั้นเวลานี้ คงต้องจับตาเป็นพิเศษสำหรับโครงการเอ็มอาร์โอ อู่ตะเภา เนื่องจากขาของการลงทุนภาครัฐ ติดเครื่องผลักดันกันเต็มสูบ ในขณะนี้ที่การลงทุนจากทางภาคเอกชน ที่จะเป็นแรงผลักดันให้โครงการสมบูรณ์และเริ่มบริหารหารายได้ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป นับเป็นอีกแรงกดดันสำหรับการบินไทยที่ต้องเร่งปิดดีลเจรจา

ตามแผนลงทุนของการบินไทยพบว่าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ เป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ โดยแบ่งระยะการลงทุนออกเป็น ระยะแรกช่วงปี 2565-2583 จะลงทุนประมาณ 6,400 ล้านบาท โดยการบินไทยลงทุนเอง 2,000 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง และจัดซื้ออุปกรณ์

นอกจากนี้จะรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ 80-100 ลำ ตามแผนคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 มีเป้าหมายสร้างรายได้ในปีแรกอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท จากการซ่อมอากาศยาน 10 ลำ และประเมินว่าจะมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอีกปีละ 2% และในช่วง 50 ปีจะมีรายได้รวม 2 แสนล้านบาท