ธรรมาภิบาลสร้างธุรกิจ จาก 'สตาร์ทอัพ' ถึงเจ้าสัว

ธรรมาภิบาลสร้างธุรกิจ จาก 'สตาร์ทอัพ' ถึงเจ้าสัว

"ธรรมาภิบาล" หนึ่งในหลักสำคัญของการทำธุรกิจที่ต้องมี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ แล้วธรรมาภิบาลมีรูปแบบอย่างไรบ้าง? แต่ละแบบต่างกันอย่างไร?

ธรรมาภิบาลมีความสำคัญมากต่อธุรกิจ ทั้งการเติบโตและความยั่งยืน แต่ในบ้านเรานักธุรกิจจำนวนมากยังเข้าใจเรื่องธรรมาภิบาลไม่ถูกต้อง

1.เข้าใจว่าเป็นเรื่องสำคัญแต่จะทำจริงจังก็เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น เพราะบริษัทเหล่านี้ต้องระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้การมีธรรมาภิบาล มีระบบที่ดี มีความโปร่งใสจึงสำคัญ เพื่อให้สอบผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ ของนักลงทุนและระเบียบของทางการ

2.เข้าใจว่าบริษัทขนาดเล็ก เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากขนาดยังเล็กและเพิ่งเริ่มต้น ควรมุ่งสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอยู่ได้ก่อน มองธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่รอได้ คือรอให้โตก่อนแล้วค่อยทำ หรือมองธรรมาภิบาลเป็นความฟุ่มเฟือยที่จะทำก็เมื่อบริษัทโตแล้ว รวยแล้ว เพื่อให้บริษัทดูดี

ความเข้าใจทั้งสองเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าบริษัทมีธรรมาภิบาลตั้งแต่เริ่มต้น ธุรกิจก็จะออกตัวด้วยแนวคิดที่ถูกต้อง ที่จะเป็นฐานเข้มแข็งนำไปสู่ความไว้วางใจ หรือ Trust ของคนรอบข้างสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโต ในลักษณะนี้การเติบโตของธุรกิจและการมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจจึงเป็นของคู่กัน ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน

แต่การมีธรรมาภิบาล “ไม่ได้” หมายความว่าต้องวางระบบทุกอย่างให้คล้ายกับระบบธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน หรือย่อส่วนธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนให้เข้ากับขนาดธุรกิจของตน เพราะเป็นไปไม่ได้จากที่ขนาดของธุรกิจและลักษณะของแต่ละธุรกิจไม่เหมือนกัน คำตอบในเรื่องนี้อยู่ที่การให้ความสำคัญกับประเด็นธรรมาภิบาล ที่สำคัญในแต่ละขั้นตอนของการเติบโตของธุรกิจที่จะตรงกับลักษณะ ความจำเป็น เป้าประสงค์ของธุรกิจ และการคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

วัฏจักรการเติบโตของธุรกิจแบ่งได้เป็นสามขั้นตอน คือ ตอนเริ่มต้น (Startup) ตอนขยายตัว (Active Growth) และตอนไต่เต้าเป็นบริษัทเต็มรูปแบบ (Fully Developed Organization) ซึ่งอาจเป็นหรือไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนก็ได้

ในทั้งสามขั้นตอนนี้ รูปแบบของธรรมาภิบาล ซึ่งหมายถึงระบบการกำกับดูแลกิจการเพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และความรับผิดรับชอบ (Accountability) จะแตกต่างกัน

1.ช่วงเริ่มต้น ที่เริ่มจากความคิดของคนคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการแปลความคิดที่มีให้เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ณ จุดนี้ ผู้เริ่มต้นหรือ Founders จะเป็นทุกอย่าง เป็นเจ้าของ เป็นพนักงาน และเงินที่นำมาใช้ทำธุรกิจก็คือเงินตัวเองที่กลุ่มผู้เริ่มต้นได้ลงขันกันมา ไม่มีออฟฟิศ ไม่มีระบบงาน ตัดสินใจคนเดียวเป็นหลัก จุดประสงค์ของขั้นตอนนี้คือ พัฒนาความคิดหรือไอเดียที่มีให้ตกผลึกเป็นผลิตภัณฑ์ หรือการให้บริการที่ขายได้ ทดสอบในแง่การตลาดว่าสิ่งที่คิดอยู่จะเป็นธุรกิจได้ รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจอาจล้มตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ความไม่รู้เรื่องกฎระเบียบและกฎหมาย รวมถึงขาดวินัยที่จะแยกเงินส่วนตัวออกจากเงินกองกลางที่เตรียมไว้สำหรับทำธุรกิจ

ในขั้นตอนนี้ ประเด็นธรรมาภิบาลสำคัญจะมีอยู่สามเรื่อง

หนึ่งคือ มีบุคคลภายนอกที่มีความรู้น่าเชื่อถือคอยให้คำแนะนำ เป็น External Advisor ที่จะช่วยกลั่นกรองความคิด ชี้แนะให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อให้ธุรกิจเริ่มต้นอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช่คิดเองทำเอง

สองคือมีแผนธุรกิจชัดเจน ที่สามารถนำไปแสดงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทราบ เช่น เจ้าหน้าที่แบงก์หรือนักลงทุน ให้เห็นว่าธุรกิจได้คิดมาอย่างดีแล้ว และไม่ได้คิดคนเดียว

สามคือแยกบัญชีระหว่างบัญชีส่วนตัวกับบัญชีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่กำลังเริ่มต้น การแยกบัญชีนี้สำคัญต่อความโปร่งใสและการมีวินัยในการทำธุรกิจ

2.ขั้นตอนของการเติบโตที่ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าได้ถูกทดสอบแล้วว่าไปได้ เริ่มมีการขาย มีการผลิต ถึงจุดที่คำสั่งซื้อเริ่มโต จนทำคนเดียวไม่ไหว ต้องหาคนอื่นมาช่วยเพื่อรองรับการเติบโต เช่น จ้างคนมาช่วยการขาย ดูแลเรื่องบัญชี เรื่องไอทีหรือบุคลากร

ในขั้นตอนนี้การตัดสินใจยังเป็นของผู้ก่อตั้งเป็นหลักและระบบงานของธุรกิจยังไม่ชัดเจน เพราะผู้ก่อตั้งจะให้ความสำคัญกับการทำโมเดลธุรกิจของตนเองให้นิ่ง เพื่อให้มีโฟกัสและตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ในแง่ธรรมาภิบาล บทบาทที่ปรึกษาจากภายนอกในช่วงสองนี้ยิ่งสำคัญ เพื่อช่วยไม่ให้เดินผิดหรือเพ้อฝันเกินไป แผนธุรกิจต้องมีการปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ล่าสุด รวมถึงมีกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy) ที่จะทำให้ผู้ที่สนใจเข้าใจถึงทิศทางของธุรกิจที่กำลังจะไป และเนื่องจากเริ่มมีคนมากขึ้นเข้ามาช่วยงานบริษัท การวางระเบียบเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งและระบบการควบคุมการเงิน จึงเป็นสิ่งที่ต้องมี

3.ช่วงของการเติบโตเป็นบริษัทเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเป็นช่วงที่บริษัทจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญสองด้าน หนึ่ง โครงสร้างความเป็นเจ้าของ เปลี่ยนจากธุรกิจที่เคยมีเจ้าของเดียวหรือกลุ่มเดียว มาเป็นธุรกิจที่มีหลายเจ้าของ สอง โครงสร้างการระดมเงินทุนจะเปลี่ยน เพราะธุรกิจต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโต เช่น กู้เงินจากหลายธนาคารไม่ใช่จากธนาคารเดียวเหมือนก่อน หรือกู้ผ่านตลาดตราสารหนี้ หรือมีกองทุนจากภายนอก เช่น Venture Capital เข้ามาร่วมลงทุน

การเปลี่ยนแปลงทั้งสองโครงสร้างนี้ทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัท และสิ่งที่คนเข้ามาใหม่เหล่านี้อยากเห็นมีสามเรื่อง คือ 1.ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น CEO และ CFO ต้องเป็นมืออาชีพที่ว่าจ้างเข้ามาจากภายนอกเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัท 2.ระบบงานต่างๆ ของบริษัทจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้เห็นความรับผิดชอบในจุดต่างๆ ของบริษัท มีกระบวนการทำงานและการรายงานตรวจสอบที่ชัดเจน 3.มีการกำกับดูแลที่เป็นกิจจะลักษณะ ที่จะตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารเพื่อดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น รวมถึงกำหนดนโยบายสำคัญให้กับผู้บริหาร

ขั้นตอนของการจัดตั้งคณะกรรมการบริษัท เพื่อกำหนดทิศทาง นโยบาย และกำกับดูแลกิจการของบริษัท เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ในขั้นตอนนี้คณะกรรมการบริษัทซึ่งเป็นจุดสูงสุดขององค์กร จะเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นทั้งในแง่การกำหนดนโยบายและดูแลให้กระบวนการทำงานสำคัญๆ เกิดขึ้น เช่น ระบบการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การรายงาน การตรวจสอบ การดูแลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งกำกับดูแลผลประกอบการของบริษัท

ในแง่ธรรมาภิบาล ขั้นตอนที่สามจะเป็นขั้นตอนที่แนวปฏิบัติที่ดีที่ใช้ส่งเสริมธรรมาภิบาลในบริษัทจดทะเบียนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ เพราะเน้นในเรื่องการทำหน้าที่คณะกรรมการบริษัทเช่นกัน ที่ต้องตระหนักคือการนำแนวปฏิบัติที่ดีเหล่านี้มาใช้ ไม่ใช่ทำเพื่อมีให้ครบหรือให้บริษัทดูดีในสายตานักลงทุน แต่เพื่อให้บริษัทมีระบบธรรมาภิบาลอย่างที่ควรต้องมีที่เหมาะสมกับสภาพของธุรกิจ โดยไม่กระทบสปิริตของธุรกิจ หรือทำให้กระบวนการเติบโตของธุรกิจมีอุปสรรค หรือขาดประสิทธิภาพ เรื่องนี้สำคัญมาก

เห็นได้ว่าธรรมาภิบาลสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนการเติบโตของธุรกิจ นี่คือประเด็นที่ธุรกิจรุ่นใหม่ของประเทศเราต้องตระหนักและทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้มีจุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง เพื่อการเติบโตและความยั่งยืนของธุรกิจ