การทางฯ เร่งคลอด TOR กพ.นี้ ประมูลใหม่ทางด่วนพระราม 3

การทางฯ เร่งคลอด TOR กพ.นี้ ประมูลใหม่ทางด่วนพระราม 3

กทพ.เร่งคลอดทีโอออาร์ใหม่ ประมูลทางด่วนพระราม 3 สัญญา 1 และ 3 วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท รอกรมบัญชีกลางเคาะ พร้อมลดเวลาสร้างเหลือ 34 เดือน หลัง “ไอทีดี” ยื่นล้มประมูล หวังเสร็จให้ทันทั้งโครงการ คาดประมูลเสร็จ เม.ย.นี้

โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 31,244 ล้านบาท เป็นอีกโครงการติดหล่มคดีฟ้องร้องทำให้ล่าช้ากว่าแผนมา 1 ปี และปฏิเสธไม่ได้ว่าความล่าช้าได้สร้างความเสียหายให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เนื่องจากตามแผนโครงการนี้ต้องนำเงินจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (ทีเอฟเอฟ) มาพัฒนา ยิ่งช้าก็ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ.เปิดเผยกรุงเทพธุรกิจว่า การประมูลโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ที่ผ่านมา กทพ.ได้ประกาศยกเลิกผลประมูลสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ของโครงการดังกล่าวไปแล้วเมื่อปลายปี 2563 และขณะนี้อยู่ระหว่างรอกรมบัญชีกลางพิจารณาเห็นชอบร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) หากผ่านการเห็นชอบ กทพ.จะสามารรถประกาศเชิญชวนได้ทันที

สำหรับทีโออาร์ที่จะประกาศครั้งนี้ กทพ.ได้ปรับปรุงจากเดิม โดยอิงตามข้อกำหนดของกรมบัญชีกลาง และปรับถ้อยคำรายละเอียดข้อกำหนดของคุณสมบัติและผลงานให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาร้องเรียนเหมือนที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าทีโออาร์และคุณสมบัติของเอกชนที่กำหนดในครั้งนี้ ไม่ได้เอื้อต่อเอกชนกลุ่มใด ประเมินแล้วว่ามีเอกชนไทยที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลได้จำนวนมาก ไม่เพียงเอกชนรายใหญ่เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ขณะนี้ล่าช้ามากว่า 1 ปีแล้ว นับจากวันที่เปิดซองราคาไปเมื่อเดือน พ.ค.2562 ซึ่งทำให้ทีโออาร์ที่ปรับปรุงใหม่ครั้งนี้ กทพ.ได้ปรับกรอบระยะเวลาก่อสร้างให้กระชับขึ้นกว่าเดิม 5 เดือน จากเดิม 39 เดือน จะเหลือ 34 เดือน เพื่อเร่งรัดงานโยธาให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด รวมทั้งให้การก่อสร้างสอดคล้องไปกับงานโยธาอีก 2 สัญญาที่ปัจจุบันเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว

แหล่งข่าวจาก กทพ. เผยกรุงเทพธุรกิจว่า ภายในเดือน ก.พ.นี้ คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนประกวดราคาโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก เนื่องจากขณะนี้ กทพ.เตรียมความพร้อมในการประกวดราคาไว้แล้ว เหลือเพียงรอการอนุมัติทีโออาร์จากกรมบัญชีกลาง หลังจากประกวดราคาแล้ว โดยเบื้องต้น กพท.คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน เม.ย.2564 และมีกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 34 เดือน

“ตอนนี้เราต้องการเร่งโครงการทั้ง 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้แล้วเสร็จระยะเวลาไม่ห่างกันมากกับสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 4 ที่ประมูลและเริ่มงานก่อสร้างไปแล้ว โดยสัญญาที่ 2 มีความคืบหน้า 10% สัญญาที่ 4 ประมาณ 22% ซึ่งเร็วกว่าแผนงานกำหนด คาดจะแล้วเสร็จในปี 2565–2566 ดังนั้นอีก 2 สัญญาที่กำลังจะประมูลนี้ ก็จะเร่งรัดให้เสร็จใกล้เคียงกัน ราวปี 2566–2567” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ จากการเร่งรัดงานก่อสร้างส่วนของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 เป็นเหตุให้ราคากลางที่จะกำหนดในการประกวดราคาครั้งนี้ ต้องปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย เพราะนอกจากจะต้องประเมินราคาวัสดุและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ยังต้องมีการคำนวณถึงค่าวัสดุและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเร่งรัดงานก่อสร้างได้ รวมไปถึงการเร่งรัดงานเอกชนต้องมีภาระค่าแรงงานเพิ่มขึ้นไปด้วย

แหล่งข่าว เผยด้วยว่า สาเหตุของการยกเลิกประกวดราคาโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ในส่วนของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 อันเนื่องมาจากมีเอกชนยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติของผู้ชนะการประมูล ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์ของกรมบัญชีกลางได้พิจารณาและมีคำสั่งให้ยกเลิกการประกาศผู้ชนะ พร้อมทั้งให้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นรายที่ 2 ของทั้ง 2 สัญญา โดย กทพ.พิจารณาแล้วพบว่าขาดคุณสมบัติ เป็นผลให้ยกเลิกประกวดราคาและอยู่ระหว่างเตรียมเริ่มประมูลใหม่

สำหรับโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก สัญญาที่ 1 เป็นงานสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร กรอบราคากลางเดิมอยู่ที่ 6,979 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า CNA เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 5,897 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด

รวมทั้งภายหลังการเปิดซองราคามีประเด็นบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติ ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์ของกรมบัญชีกลาง พิจารณาแล้วว่าคำอุทธรณ์มีผล และทำให้มีการยกเลิกประกาศที่ให้กิจการร่วมค้า CNA เป็นผู้ชนะ

ส่วนสัญญาที่ 3 งานสร้างทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กิโลเมตร กรอบราคากลางเดิมอยู่ที่ 6,990 ล้านบาท กิจการร่วมค้า ไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ประกอบด้วย บริษัท China Railway 11 th Bureau Group Corporaton , บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 6,098 ล้านบาท 

โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติผู้เสนอราคาต่ำสุด และ กทพ.ได้ยกเลิกประกาศผล ทำให้ บริษัทซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยศาลมีคำสั่งไม่รับคุ้มครอง

ขณะที่งานก่อสร้างอีก 2 สัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ ได้แก่

สัญญาที่ 2 ชาวงเซ็นทรัลพระราม 2 ถึงโรงพยาบาลบางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร วงเงินโครงการ 6,440 ล้านบาท โดยมีกลุ่ม CTB เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ประกอบด้วย China Harbour Engineering Company Limited, บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด ซึ่งการก่อสร้างในปัจจุบันมีความคืบหน้าราว 10% ถือว่าเร็วกว่าแผนที่วางไว้ 2%

สัญญาที่ 4 งานสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร และงานก่อสร้างทางด่วน ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 2 กิโลเมตร โดยมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง วงเงินโครงการ 6,636 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างในปัจจุบันมีความคืบหน้าราว 22% ถือว่าเร็วกว่าแผนที่วางไว้ 2%

สำหรับโครงการนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.2560  มิ.ย.) ได้มีมติอนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงินลงทุนรวม 31,244 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง 30,437 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 807 ล้านบาท โดยให้ กทพ.ใช้แหล่งเงินลงทุนจากกองทุนทีเอฟเอฟ