'3 หุ้นนิคมฯ' ลุ้นวัคซีน ดันทุนนอก 'คัมแบ็ก'

'3 หุ้นนิคมฯ' ลุ้นวัคซีน ดันทุนนอก 'คัมแบ็ก'

เมื่อข้อจำกัดการเดินทาง ! กำลังจะถูก 'กำจัด' หลังความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 ส่งผลดีต่อ 'ลงทุน' กลับมาสดใสอีกครั้ง หนึ่งใน 'ดาวเด่น' รับปัจจัยบวกดังกล่าว ยกให้ '3 หุ้นนิคมอุตสาหกรรม' ที่รอความหวัง 'นักลงทุนต่างชาติ' เดินทางมาจรดปากกาซื้อที่ดิน !

พลันที...! ข่าวความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระดับ 90-95% เผยแพร่ออกมา เปรียบเหมือนทั่วโลกกำลังจะใกล้ประกาศ 'ชนะ' กับการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานได้แล้ว และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รอคอยข่าวดีดังกล่าว ต้องยกให้ 'กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม !!'

เมื่อ 'การจำกัดการเดินทาง' เข้าประเทศไทยของ 'นักลงทุนต่างชาติ' กำลังจะ 'ถูกปลดล็อก' สามารถเดินทางเข้าไทย สะท้อนผ่านมีนักธุรกิจแสดงความจำนงขอเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยมากถึงระดับ 'หมื่นราย !' สะท้อนความต้องการ (ดีมานด์) ที่อัดอั้น !! หลังจากมาตรการ 'ปิดประเทศ' (Lock down) เพื่อสกัดกั้นโควิด-19   

หากพิจารณา 'บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย' (บจ.) ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่ 'โดดเด่น' คงต้องมี '3 หุ้นนิคมฯ' นั่นคือ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA ,บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชั่น หรือ AMATA และ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ หรือ ROJNA เป็นต้น

โดยก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมืองไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายของ 'ทุนข้ามชาติ' ที่ต้องการลงทุนหรือย้ายฐานลงทุนใหม่ จากประเด็นผลกระทบเรื่อง 'สงครามการค้า' (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯ-จีน สะท้อนผ่านการเร่งผลักดันการลงทุน 'โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC' ที่เป็นนโยบายสำคัญที่ไทยใช้เป็นแม็กเนตดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

ส่งผลให้ตัวเลขผลประกอบการ 2 ปีย้อนหลัง (2561-2562) ของ 3 หุ้นนิคมฯ ในตลาดหุ้นไทยเติบโต ! โดย 'หุ้น WHA' มีกำไรสุทธิ 2,906.81 ล้านบาท และ 3,229.25 ล้านบาท 'หุ้น AMATA' กำไรสุทธิ 1,018.22 ล้านบาท และ 1,742.06 ล้านบาท 'หุ้น ROJNA' กำไรสุทธิ 671.21 ล้านบาท และ 1,837.98 ล้านบาท ตามลำดับ

160648747328

ทว่าเปิดปีศักราชใหม่ 2563 ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ! ต้องเผชิญความท้าท้ายครั้งใหญ่ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต้องใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อหวังหยุดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้ ซึ่งกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกยิ่งเฉพาะการเดินทางติดต่อระหว่างกัน ทำให้การติดต่อธุรกิจต้องถูกเลื่อนหรือยกเลิก

ปัจจัยลบดังกล่าว 'กดดัน' ตัวเลขผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2563 เทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2562 ที่กำไรสุทธิ 'ลดลง' โดย หุ้น WHA กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,069.80 ล้านบาท ลดลง 2,028.13 ล้านบาท หุ้น AMATA กำไรสุทธิ 706.80 ล้านบาท ลดลง 1,491.69 ล้านบาท และ หุ้น ROJNA กำไรสุทธิ 655.97 ล้านบาท ลดลง 1,676.47 ล้านบาท

ขณะที่ตัวเลขไตรมาส 3 ปี 2563 หุ้น WHA กำไรสุทธิไตรมาส 3 อยู่ที่ 428.55 ล้านบาท ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 74% จากไตรมาสก่อน หุ้น AMATA ไตรมาส 3 อยู่ที่ 268.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 66% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ หุ้น ROJNA ไตรมาส 3 ปี 2563 กำไรสุทธิ อยู่ที่ 93.46 ล้านบาท ลดลง 87% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 93% จากไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตามเมื่อผลการดำเนินงาน 'ไม่สดใส' กดดันให้ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap' ของ 3 หุ้นธุรกิจนิคมฯ ณ ปัจจุบัน (26 พ.ย.2563) เทียบกับปี 2562 'หดหาย' โดย หุ้น WHA มาร์เก็ตแคปปัจจุบัน 46,036.25 ล้านบาท ลดลงจาก 57,071.30 ล้านบาท หุ้น AMATA มาร์เก็ตแคป 18,055.00 ล้านบาท ลดลงจาก 21,446.70 ล้านบาท และ หุ้น ROJNA มาร์เก็ตแคป 8,526.35 ล้านบาท ลดลงจาก 10,304.36 ล้านบาท

สอดคล้องกับ 'วิบูลย์ กรมดิษฐ์' กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชั่น หรือ AMATA เล่าให้ฟังว่า ยอมรับปี 2563 'ยอดขาย' ที่ดินต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 950 ไร่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกค้าเลื่อนการเซ็นสัญญาออกไป 9-10 ราย หรือคิดเป็นหลายร้อยไร่ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้แสดงเจตจำนงที่จะซื้อที่ดินอยู่แล้ว แต่ยังไม่เซ็นสัญญา ส่วนจะเลือนไปปี 2564 หรือไม่ ก็ต้องรอดูสถานการณ์โควิดด้วย

'ธุรกิจนิคมฯ ถูกผลกระทบจากการปิดประเทศ เนื่องจากลูกค้าต่างชาติเข้ามาเจรจาซื้อที่ดินไม่ได้ ปีนี้โควิด-19 กระทบทำให้เป้ายอดขายที่ดินไม่เป็นไปตามเป้า โดยปีนี้ทั้งปีคาดว่าจะมีโรงงานใหม่เข้ามาราว 10 แห่ง จากภาวะปกติจะมีลูกค้าใหม่ราว 30-40 โรงงานต่อปี'

สำหรับแผนการลงทุนปี 2564 รอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) พิจาณาอีกครั้ง ในส่วนของงบลงทุนส่วนไหนที่ประหยัดได้ก็ประหยัด เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ การซื้อที่ดินเพิ่ม เพราะที่ดินบางส่วนยังไม่จำเป็นถ้าโควิด-19 เป็นแบบนี้

ซึ่งปัจจุบันอมตะมีพื้นที่รอการพัฒนาเหลืออยู่ 13,000 ไร่ แบ่งเป็นในอมตะซิตี้ ระยอง กว่า 3,000 ไร่ ที่อมตะซิตี้ ชลบุรี กว่า 9,000 ไร่ ยังไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม อมตะเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีพื้นที่ 27,000 ไร่ สำหรับนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี มีจำนวนโรงงาน ถึง 700 โรงงาน และ 16,895 ไร่ สำหรับนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ระยอง มีจำนวนโรงงาน ถึง 356 โรงงาน จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย (GDP) เติบโตขึ้นในทุกๆ ปี

160648754541

วิบูลย์ กรมดิษฐ์

'จรีพร จารุกรสกุล' ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA บอกว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในมืองไทยไตรมาส 3 ปี 2563 ยอมรับมีการ 'ชะลอตัวลง' เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 เนื่องจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและการขายที่ดินใหม่ ยังคงต้องเลื่อนออกไปจากมาตรการจำกัดการเดินทาง

ขณะที่ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมประเทศเวียดนาม เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน- 1 เหงะอาน ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดบริษัท เกอร์เท็ก พรีซิชั่น อินดัสทรี เวียดนาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (MEMS) ระดับโลกจากประเทศจีน ได้ซื้อที่ดินจำนวน 253 ไร่จากบริษัทเพื่อสร้างโรงงานสำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น หูฟังแอร์พอด เป็นต้น

โดยบริษัทคาดว่ายอดขายที่ดินในประเทศเวียดนามปีนี้ จะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้ปี 2564 บริษัทมีแผนเตรียมการลงทุนพัฒนาพื้นที่เขตอุตสาหกรรมในโซน 2 และ 3 ของเฟส 1 เพื่อรองรับนักลงทุนที่สนใจเพิ่มเติม

สำหรับ ธุรกิจสาธารณูปโภค บริษัทรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภค ในไตรมาส 3 เท่ากับ 493.1 ล้านบาท โดยปริมาณขายน้ำรวมมีการปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้นในประเทศเวียดนาม ส่วนประเทศไทยปริมาณยอดขายในไตรมาสนี้ยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยบริษัทคาดว่าในไตรมาส 4 ยอดจำหน่ายน้ำจะมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นจากการกลับเข้าสู่การดำเนินการผลิตปกติของผู้ใช้น้ำและการขยายกำลังการผลิตของลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการปิโตรเคมีซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท

นอกจากนี้ บริษัทมีการขยายผลิตภัณฑ์และบริการด้านนวัตกรรมน้ำอย่างต่อเนื่องโดยโครงการ Reclamation Plant ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยของบริษัทฯ จะเปิดดำเนินการผลิต 25,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันได้ในเดือนธันวาคมปีนี้ รวมถึงบริษัทฯ ได้มีการลงนามในสัญญาน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) เฟสที่ 2 เพิ่มเติมกับบริษัท GPSC เพื่อจำหน่ายน้ำปราศจากแร่ธาตุอีก 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ภายในเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน

ในส่วนของ ธุรกิจไฟฟ้า กลุ่มบริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 3 อยู่ที่ 240.6 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่ลดลงจากหลาย

ทั้งนี้ สามารถรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากปริมาณยอดขายไฟฟ้าที่ปรับตัวดีขึ้นจากกลุ่มธุรกิจ SPP และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ตลอดจนการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ Solar เพิ่มเติมอีก 7 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวมอยู่ที่ 27 เมกะวัตต์ ณ ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยคาดภายในปลายปีนี้ จะมีกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งสิ้น 42 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นรายได้รวมต่อปีกว่า 150 ล้านบาท

ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นความสำคัญของการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตและบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีการให้บริการด้านดิจิทัลที่ครอบคลุมทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบเน็ตเวิร์ก การให้บริการโครงข่าย FTTx ตลอดจน Cloud และ Managed Service รวมถึงโซลูชั่นต่างๆ เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในอนาคตสามารถต่อยอดไปสู่การให้บริการด้านเทคโนโลยี 5G อีกด้วย

ธุรกิจโลจิสติกส์ ยังคงดีอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 302.0 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา รวมถึงปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาให้เช่าพื้นที่คลังสินค้าอีกกว่า 200,000 ตารางเมตร กับกลุ่มผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลทำให้พื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมดของบริษัทฯ มีมากกว่า 2,500,000 ตารางเมตร ภายในสิ้นปีนี้

160648760680

จรีพร จารุกรสกุล

โบรกฯ มองปีนี้รายได้นิคมฯ ยังอ่อนแอ !!

'จันทร์เพ็ญ ศิริธนารัตนกุล' นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอสวิคเคอร์ส วิเคราะห์ว่า หุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมนั้น รอคอยการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากไทยยังไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ทำให้ธุรกิจนิคมฯ มียอดขายที่ดินน้อยลง

โดย AMATA ไตรมาส 3 ปี 2563 มีกำไรลดลง 74% ผลพวงจากรายได้-ขายนิคมอุตสาหกรรมน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มระยะยาวยังดีอยู่ จากเม็ดเงินโดยตรงของต่างชาติ (FDI) เข้าไทยได้ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลาย อีกทั้งมีการขยายไปยังตลาดเวียดนาม และเมียนมา ซึ่งมีอนาคตการเติบโตที่สูง

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง บอกว่า สำหรับหุ้นนิคมฯ อย่าง WHA คาดว่ายอด Presales ในปีนี้จะอยู่ที่ 600 ไร่ โดย 300 ไร่ในประเทศไทย และ 300 ไร่ในเวียดนาม ซึ่งน่าจะเห็นยอด Presales ปรับตัวขึ้นจากเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2563 จากลูกค้ารายใหญ่ และเวียดนามยังมีข้อจำกัดในการเดินทางที่น้อยกว่าไทย ส่วนลูกค้าที่ยังคุยดีลอยู่แต่ติดปัญหาเดินทางไม่ได้มีมากกว่า 2,000 ไร่ บริษัทยังมองว่าไตรมาส 1 ปี 2564 น่าจะเริ่มเห็นการปลดล็อกเข้ามาบ้าง และน่าจะอยู่ในระดับที่ดีในไตรมาส 2 ปี 2564

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเดินทางเข้าไทยของลูกค้าทำให้เกิดความล่าช้าในการเซ็นสัญญา ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวของ WHA จะเป็นรูปแบบ V-shape หากรัฐบาลมีการผ่อนคลายการเดินทางจากต่างประเทศ โดยเชื่อว่าจากการย้ายฐานผลิตออกจากจีนอันเนื่องมาจากผลกระทบจากโควิด-19 จะหนุนกำไรของปี 2564 ดังนั้น ยังคงคำแนะนำ 'ซื้อ'