เผยข้อมูล โควิด - เทคโนโลยีเปลี่ยน แรงงาน 18.2 ล้านคนเสี่ยงตกงาน

เผยข้อมูล โควิด - เทคโนโลยีเปลี่ยน แรงงาน 18.2 ล้านคนเสี่ยงตกงาน

เวทีวิจัย "คิดใหม่ไทยก้าวต่อ" โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย เผยแพร่งานวิจัยที่ได้จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เผยโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งการปรับเปลี่ยนหลายด้าน แรงงานกว่า 18 ล้านคนเสี่ยงตกงาน แนะรัฐเร่งวางแผนรับมือ

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายได้แก่  สถาบันวิจัยเศรษฐกิป้วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และสำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica จัดงานสัมนาและเผยแพร่งานวิจัยในโครงการ “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ”  

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการเกิดขึ้นของโควิด-19 เป็นตัวเร่งปัญหาที่สั่งสมและกระทบกับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เดิมถูกกระทบจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง (mega trend) หลายๆเรื่องได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบกับอาชีพเกษตรกรในประเทศไทยให้มีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมาก 

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยพบว่ากลุ่มที่แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องของ megatrend การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของรูปแบบการค้าโลกที่เกิดขึ้นควบคู่กับปัญหาโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมาทำให้มีกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงในการสูญเสียงาน หรือตกงานในอนาคตรวมกว่า 18.25 ล้านคน ใน 258 อาชีพ แบ่ง เป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.ได้รับ

ผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีอย่างจำกัด คือมีความเสี่ยงน้อยที่จะสูญเสียงานจากการทดแทนด้วยหุ่นยนต์และผลทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า โดยอาชีพที่จัดในกลุ่มนี้ 166 อาชีพ เช่น พ่อครัว แม่ครัว อาชีพช่างเครื่องยนต์ ครูสอนระดับประถมศึกษา และผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้ครอบคลุมแรงงาน 12.20 ล้านคน หรือ 32.26% ของกำลังแรงงานไทย

2.มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียงานจากการถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า คือกลุ่มอาชีพที่จัดอยู่ในกลุ่มจำนวน 81 อาชีพ เช่นผู้ประกอบอาชีพเทคนิค หรือเสมียน ช่างฝีมือด้านการเกษตร เป็นต้น   ซึ่งครอบคลุมแรงงานจำนวน 4.78 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.63% ของกำลังแรงงานไทย 

3.ได้รับผลกระทบทั้งจาก โควิด-19 และจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คือ กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์จากผลในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า โดยมี 11 อาชีพ เช่น  พนักงานต้อนรับ พนักงานนับสินค้า เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้มีข้อด้อยคือมีระดับการศึกษาต่ำกว่าสองกลุ่มแรกทำให้ปรับตัวรองรับอาชีพในอนาคตได้ยากกว่า โดยคาดว่าผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มนี้จะครอบคลุม 1.27 ล้านคน หรือคิดเป็น 3.35% ของกำลังแรงงานไทย

สำหรับข้อเสนอแนะมี 2 ส่วนหลักคือ 1.นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น ส่งเสริมให้มีการซื้อ ขายสินค้าออนไลน์ การเรียนและอบรมให้ความรู้ทางออนไลน์ และทำงานออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆได้มากขึ้น แต่ก่อนที่จะส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลแบบนี้มาใช้ได้รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้งการเพิ่มการสนับสนุนทั้งเงินทุนและระยะเวลาในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับแรงงานทุกกลุ่มอย่างจริงจัง 

2.การเพิ่มความช่วยเหลือจากภาครัฐที่จำเป็นต่อการพัฒนาชนบท เพื่อให้แรงงานที่กลับสู่ชนบทสามารถพัฒนาและสร้างอาชีพในท้องถิ่นได้ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่นชุมชน รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องเงินทุนโดยเฉพาะผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ต้องการสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน 

160644556717

ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานทั้งในและนอกระบบ และทั้งกลุ่มที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำซึ่งมีรายได้ที่ลดลงตั้งแต่ระดับ 54 - 90% โดยเมื่อพิจารณาเรื่องของการทำมาหากิน ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ โดยกลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบที่หนักสุดเป็นกลุ่มแม่ค้าในตลาด คนขับรถสองแถว วินมอเตอร์ไซต์ ผู้รับเหมา ส่วนเบาที่สุด เป็นอาชีพข้าราชการ

 ในด้านความรุนแรงที่เกิดขึ้น ยังส่งผลต่อชีวิตของประชาชนหลากหลายแง่มุม เช่น อาชีพเสริมบางคนต้องการทำอาชีพเสริม บางคนได้ค้นพบอาชีพเสริม แต่บางคนสูญเสียรายได้ที่เป็นอาชีพเสริมไปแล้ว ขณะที่เงินช่วยเหลือมีทั้งด้านดีและไม่ดี

โดยแรงงานที่สูญเสียรายได้มากจากการถูกเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงานในเมืองได้กลับไปยังชนบทเป็นการกลับไปหาทุนทางสังคม หรือทุนชุมชนที่ละทิ้งมาก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นการปรับตัวแบบหนึ่งของแรงงานเรียกว่าภาวะที่เรียกว่า revesre drian brain ที่จะทำให้ชนบทสามารถพัฒนาได้หากภาครัฐสนับสนุนเพียงพอ 

ทั้งนี้รูปแบบการปรับตัวแบบนี้มีผลดีต่อการกระจายรายได้ กระจายความเจริญ รวมถึงกระจายอำนาจทางการเมืองเนื่องจากบุคลากรและแรงงานที่เดินทางจากชุมชนเมืองกลับไปยังชนบทมีจำนวนมากที่กลับไปพร้อมกับองค์ความรู้ที่สามารถนำกลับไปสร้างอาชีพ และสร้างเครือข่ายความรู้และอาชีพในชนบทได้ซึ่งหากภาครัฐมีนโยบายการส่งเสริมที่เหมาะสม ช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเช่นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หรือช่วยให้เกิดการรับซื้อผลผลิตจากชนบทไปสู่ตลาดผ่านช่องทางต่างๆจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศได้อย่างมากในอนาคต