จ่อเสนอรีดเงินดีเซล-เบนซิน เข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่ม

จ่อเสนอรีดเงินดีเซล-เบนซิน เข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่ม

สกนช.เล็งเสนอ กบน. ฉวยจังหวะราคาน้ำมันถูก รีดเงินกลุ่มดีเซล-เบนซิน เข้ากองทุนฯเพิ่ม ตุนเงินไว้ดูแลเสถียรภาพราคาช่วงเกิดวิกฤต แต่ไม่เกินเพดาน 4 หมื่นล้านบาท

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 มีมติเห็นชอบแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563 - 2567 แล้วนั้น ทาง สกนช.จะเดินหน้านำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ในปลายเดือนต.ค.นี้ พิจารณาแล้วทางดูแลเสถียรภาพเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะเสนอให้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในช่วงที่ราคาลง เพื่อสะสมเงินให้กองทุนน้ำมันฯ ให้มีสภาพคล่อง

เบื้องต้น มีแนวคิดจะเสนอให้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่มทั้งในส่วนของกลุ่มเบนซินและดีเซล โดยเฉพาะกลุ่มดีเซล ขณะนี้ราคาขายปลีกอยู่ในระดับมาก อยู่ที่ประมาณ 18.89 บาทต่อลิตร(ประกาศปรับราคาล่าสุด วันที่ 20 ต.ค.63) จากอดีตเคยกำหนดตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

“วันนี้ ราคาดีเซลต่ำมาก หากบอร์ดเห็นด้วย ก็จะยังมีช่องว่างด้านราคาให้สามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯเพิ่มขึ้น โดยมีแนวคิดว่า จะดูแลราคาดีเซล ไม่เกิน 25 บาทต่อลิตร ต่ำกว่าอดีตที่ดูแลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จะเป็นไปได้ไหม”

160363718965

ส่วนจะเรียกจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯเพิ่มในน้ำมันแต่ละชนิดในอัตราเท่าไหร่นั้น ยังขึ้นอยู่กับ กบน.จะพิจารณาความเหมาะสม แต่โดยหลักการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันมีเงินสะสมได้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท และในยามเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ยังกำหนดให้ สกนช. จัดทำแผนลดการชดเชยน้ำมันที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในช่วง 3 ปี หลังจากกฎหมายบังคับใช้ ทำให้ในช่วง 3 ปีแรก จะยังสามารถใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯเข้าไปชดเชยพลังงานทดแทนได้ และหากมีความจำเป็นยังสามารถขอต่ออายุการชดเชยได้อีก 2 ครั้ง (ครั้งละ 2 ปี) จากนั้นจะไม่สามารถใช้ชดเชยพลังงานทดแทนได้อีก

ดังนั้น สกนช. จะเสนอให้ กบน. ลดการชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพลงในอัตรา 50% ตั้งแต่ 24 ก.ย. 2564 และยกเลิกชดเชย หรือ ชดเชยเป็น 0 ตั้งแต่ 24 ก.ย.2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯทยอยไหลออกลดลง และหยุดไหลออกในที่สุด

รวมถึง เพื่อดูแลในส่วนของผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำมันนั้น ทาง สกนช. มีแนวคิดที่จะหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7(ม.7) เพื่อร่วมกันพิจารณาระดับค่าการตลาดที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกันในการปรับกลไกการชดเชยราคาในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันค่าการตลาดก็ควรอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป เพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงมาตรการต่างๆ ไปส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีก จนสร้างภาระให้กับผู้ใช้น้ำมันในอนาคต อย่างไรก็ตาม แผนฯดังกล่าว จะดำเนินการได้หรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กบน. ซึ่งหากไม่เห็นชอบแนวทางที่ สกนช.เสนอไป ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้

160363735582

สำหรับการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 21 ต.ค.63 ดังนี้ เบนซิน จัดเก็บอัตรา 6.58 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 จัดเก็บอัตรา 0.62 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 จัดเก็บอัตรา 0.62 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ อี20 ชดเชย 2.28 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 85 ชดเชย 7.13 บาทต่อลิตร, ดีเซล ชดเชย 2.50 บาทต่อลิตร, ดีเซล บี20 ชดเชย 4.16 บาทต่อลิตร และดีเซล บี7 จัดเก็บอัตรา 1 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563 – 2567 ที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 20 ต.ค.63 ทางสนกช. นำเสนอดังนี้ 1.ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำการแยกบัญชีตามกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ กลุ่มน้ำมันดีเซล กลุ่มน้ำมันเบนซิน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว เพื่อหลีกเลี่ยงการอุดหนุนราคาข้ามกลุ่มเชื้อเพลิง 2. มีกรอบความต่างของราคาระหว่างราคาเชื้อเพลิงหลักของกลุ่มน้ำมันดีเซล และกลุ่มน้ำมันเบนซินในกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเท่ากับความต่างของราคาในสถานการณ์ราคาปกติ

อย่างไรก็ตาม หากเกิดวิกฤตที่คาดว่าจะยาวนานจนส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ทำให้เงินกองทุนน้ำมันขาดสภาพคล่องให้พิจารณาอุดหนุนราคาดีเซลชนิดเดียว 3.ชดเชยราคาน้ำมันเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

4. ให้เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงที่ราคาลง เพื่อสะสมเงินให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีสภาพคล่อง และ 5. ทบทวนแนวทางการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง