1 ทศวรรษ 'ปิดทองหลังพระฯ' ความสำเร็จของการพัฒนาชนบท ตามแนวพระราชดำริ

1 ทศวรรษ 'ปิดทองหลังพระฯ' ความสำเร็จของการพัฒนาชนบท ตามแนวพระราชดำริ

การพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองและชนบท ทำให้เกิดช่องว่างในสังคม กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางรายได้และโอกาส ซึ่งกลไกภาครัฐอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ต้องใช้การพัฒนาตาม"แนวทางพระราชดำริ"ที่มีตัวอย่างความสำเร็จหลายโครงการให้เห็นทั่วประเทศ

พระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9)ได้ทรงพระราชทานไว้ประชาชนชาวไทยถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

เมื่อเกิดภาวะวิกฤตยังสามารถประยุกต์เอาพระราชดำริมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของชุมชนไปจนถึงระดับประเทศให้พ้นผ่านวิกฤตไปได้ สมกับคำว่า "พระราชดำริคุ้นจุนสังคม" ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริได้หยิบยกมาเป็นถ้อยคำหลักในการจัดงานเสวนาเรื่อง "ก้าวใหม่การพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ” เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา

คณะผู้วิจัยจากสถาบันการศึกษา 3 แห่ง คือ ถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เพื่อหาแนวทางการประเมินผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดตัวชี้วัดให้ผสานกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้การพัฒนาชนบทมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคต

ผลการวิจัยระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆของปิดทองหลังพระฯสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำชุมชนได้ 275,714 ไร่ จากการร่วมกับชุมชนและราชการ พัฒนาแหล่งน้ำและสร้างฝาย 6,259 แห่ง ผู้ได้รับประโยชน์ในพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่ขยายผล 80,247 ครัวเรือน เกิดพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นรวม 106,580 ไร่ ในจังหวัดน่าน 

ส่วนการพัฒนาอาชีพทางเลือก ทำให้เกิดกลุ่มกองทุนที่บริหารจัดการโดยชุมชน 67 กลุ่ม มีสมาชิก 2,152 ครัวเรือน มีเงินในกองทุนหมุนเวียน 12 ล้านบาท  ที่สำคัญ การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ยังช่วยให้รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 109 ล้านบาท (ปี 2552) เป็น 2,676 ล้านบาท (ปี 2562) และรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ สูงกว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ คือ 124,890 บาท (คิดเป็น62%) และผ่านพ้นเส้นความยากจนแล้ว 74%

นายโชติชัย เจริญงาม ผู้แทนคณะวิจัยกล่าวว่าการดำเนินงานของปิดทองหลังพระฯ มีการประเมินผลแบ่งออกเป็นสามด้าน ครอบคลุมมิติความคุ้มค่าเชิงงบประมาณ (Fiscal Report) มิติการพัฒนาที่ยึดตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ (Wisdom Report) และมิติความคุ้มค่าของโครงการและกิจกรรมซึ่งทั้งหมดสามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้  

“โครงการของปิดทองหลังพระฯจะเห็นครบทุกมิติ แต่ที่สำคัญและเป็นเงื่อนไขสำคัญ คือการ บูรณาการตลอดระบวนการทำงานที่ช่วยเติมช่องว่างที่ราชการอาจไปไม่ถึง สิ่งนี้ถ้ามีการนำไปปรับใช้เป็นเกณฑ์การทำงานมาตรฐาน ผมเชื่อว่าชนบทจะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว”

160278231439

การดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ ที่ดำเนินงานมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2552 โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่ จ.น่านกระทั่งปัจจุบันดำเนินการโครงการเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนในชนบท ลดปัญหาความยากจน ลดหนี้สิน ของประชาชนในพื้นที่ชนบท จนปัจจุบันการดำเนินการมีการขยายผลไปยังพื้นที่ทั่วประเทศตามโจทย์การพัฒนาพื้นที่ทั่วประเทศ  

โดยปิดทองหลังพระฯได้มีการแบ่งโจทย์การพัฒนาพื้นที่ตามปัญหาและประเด็นของแต่ละพื้นที่แบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1.พื้นที่อนุรักษ์ป่า พัฒนาอาชีพ ใน จ.น่าน จ.อุทัยธานี  และจ.เพชรบุรี 2.พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.นราธิวาส

3.พื้นที่บริหารจัดการต้นน้ำ พัฒนาอาชีพ ได้แก่ จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์  และ 4. พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ในพื้นที่ จ.เชียใหม่ จเชียงราย และจ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งการกระจายพื้นที่โครงการออกไปเพื่อให้ได้ต้นแบบของโครงการการพัฒนาชนบทที่สำเร็จได้ด้วยแนวทางพระราชดำริที่พระบามสมเด็จพระรัชกาลที่  9 ทรงพระราชทานไว้แก่พสกนิกรชาวไทย 

ขอบเขตการดำเนินการโครงการกิจกรรมของปิดทองหลังพระฯครอบคลุมการดำเนินโครงการ/กิจกรรมทั้ง 4 มิติของการพัฒนาได้แก่ 1.มิติทางเศรษฐกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับ เรื่องของอาชีพ การตลาดและโครงการสร้างพื้นฐาน 2.มิติในเรื่องสังคม ซึ่งเน้นในเรื่องการรวมกลุ่ม การฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และการพัฒนาองค์กรเพื่อต่อยอดความรู้ใหม่ 3.มิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และ 4.มิติในเรื่องการบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่เรื่องของปัจจัยการผลิต งบประมาณ และองค์ความรู้ในด้านต่างๆ 

160278161419

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่าความมุ่งมั่นในการสืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อที่จะให้ประเทศผ่านความท้าทายต่าง ๆ นานาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน เพราะทุกคนทราบดีแล้วว่า ในช่วงเวลาสองปีมานี้ ประเทศของเราได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากสงครามการค้า ภัยพิบัติทางธรรมชาติและ Technology disruption ที่เข้ามาทดแทนแรงงานคนอย่างรวดเร็ว

คาดว่าจะกระทบกับแรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน และส่งผลกระทบต่อคนไทยทุกคนอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะประชาชนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว จะยิ่งลำบากกว่าเดิม ถ้าไม่สามารถปรับตัวรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ดังนั้นการทำงานของปิดทองหลังพระฯและภาคีเครือข่ายไม่เพียงเป็นการทำงานสนองแนวพระราชดำริเท่านั้น แต่หมายถึงการช่วยให้ผู้ด้อย โอกาสสามารถยืนบนขาของตัวเอง มีอิสระภาพในชีวิต และเป็นรากฐานให้แก่การพัฒนาประชาธิปไตยได้โดยแท้จริง

“เรามักพบเสมอว่า ประชาชนในชนบท ลำบากยากแค้น รอความช่วยเหลือ ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง จึงละทิ้งชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง แต่ขณะนี้โอกาสของการทำงานในเมืองก็ลดลง เหล่านี้ กระตุ้นให้พวกเราเห็นชัดว่า เราจะต้องทำงานให้หนัก เพื่อให้ประเทศไทยของเราผ่านโควิด-19 และ Technology disruption ไปได้ เพื่อให้ประเทศไทยดีว่าเดิม ไม่ใช่แค่กลับไปเหมือนเดิม”ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว