'ธุรกิจไทย’ปีนี้อ่วม ส่อผิดนัดชำระหนี้พุ่ง

'ธุรกิจไทย’ปีนี้อ่วม  ส่อผิดนัดชำระหนี้พุ่ง

“ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย” คาดยอดขายของภาคธุรกิจไทยในปี63 ส่อหดตัว 9% หวั่นกดดันความสามารถชำระหนี้-ความเสี่ยงทำให้มีธุรกิจซมไข้ยาวนาน คาดกิจการที่มีกำไรไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ยขยับขึ้นเป็นระดับ 30%

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  คาดรายได้ของภาคธุรกิจไทยในปี 2563 จะลดลงค่อนข้างมากจากภาวะปกติ เนื่องจากธุรกิจไทยต้องเจอกับความท้าทายของวิกฤติโควิด-19 โดยคาดว่ายอดขายของภาคธุรกิจในปีนี้จะหดตัวมากถึง 9% และการฟื้นตัวภายในปี 2564-2565 จะทำได้อย่างช้าๆและคาดว่าใช้เวลา 2-3 ปีกว่ารายได้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือก่อนช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งคาดว่ารายได้ที่ลดลงค่อนข้างมากจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในหลายๆด้านโดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ หลังมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลง

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนรายในไทย พบว่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (ICR) ซึ่งสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งภาพรวมปีนี้คาดว่าระดับ ICR จะมาอยู่ที่ 3.11 เท่า ลดลงจากปี 2562 ที่อยู่ระดับ 3.62 เท่า และคาดว่าอาจจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม

ขณะที่ในส่วนของกิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่าระดับ 1 เท่า  คาดว่าปีนี้จะมีสัดส่วนมากถึง 30% จากบริษัททั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 26% และคาดว่าจะทรงตัวในระดับ 27-29% ภายในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งสะท้อนว่าภาคธุรกิจที่เปราะบางยังมีอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชีจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 14% จากปีก่อนที่อยู่ระดับ 10% และคาดว่าในปีหน้าจะพุ่งไปแตะระดับ 26% ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วงในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจที่ด้อยลง

“สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการซมไข้ยาวนานหรือกิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชีมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 10% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 ขึ้นมาเป็นระดับ 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2564”

นายณัฐพร ศรีทอง รองผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า  บริษัทที่มีความเสี่ยงด้านการชำระหนี้ หรือที่เรียกว่า“ซมไข้ยาวนาน”กระจายตัวแทบทุกธุรกิจ แต่กลุ่มธุรกิจที่ควรจับตามองเป็นพิเศษคือ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังพบว่าเป็นจำนวนธุรกิจในกลุ่มจะที่มีโอกาสเป็นซมไข้ยาวนานจะเพิ่มขึ้น 30% ของกิจการทั้งหมด จากเดิมค่าเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 26% ตามลำดับ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 48% และ 38% ภายในปี 2564-2565 ได้หากไม่มีการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้

“ขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารและแนวโน้มกำลังซื้อในประเทศ,ภาวะการมีงานทำ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน นอกจากนั้นยังมีอีกหลายธุรกิจที่จะมีจำนวนกิจการซมไข้ยาวนานสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ธุรกิจอสังหาฯ,ธุรกิจสื่อและบันเทิง, ธุรกิจเครื่องหนัง, ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจสิ่งทอ เป็นต้น”

นายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การจัดการกับบริษัทที่ซมไข้ยาวนานที่จะเพิ่มมากขึ้นคือโจทย์ท้าทายในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจง โดยคำนึงถึงพื้นฐานทางการเงินของกิจการ และศักยภาพการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้