CP ชูโรงงานไก่ในจีนต้นแบบ Circular Economy

CP ชูโรงงานไก่ในจีนต้นแบบ Circular Economy

CP ชูต้นแบบ Circular Economy สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างยั่งยืน เรียกร้องผู้ผลิต-ภาคเอกชนลงมืออย่างเป็นรูปธรรม

เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย Thailand Responsible Business Network (TRBN) จัดสัมมนาออนไลน์ Circular Economy in Action : Game Changer เพื่อรับฟังมุมมองแนวคิดกลยุทธ์การดำเนินงานจากภาคธุรกิจที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2563

นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ของ Circular Economy หรือการสร้างให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยว่า การทำให้สำเร็จได้ต้องมี Push and Pool คือ ผู้ผลิตสินค้าและบริการมีการตระหนักรู้แล้ว แต่ส่วนของผู้บริโภคต้องเห็นถึงความแตกต่างและเข้าใจถึงประโยชน์ของเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน จึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ปัญหาสภาพแวดล้อมอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง และสหประชาชาติรายงานว่าปีนี้เป็นปีแรกที่การบริโภคของมนุษย์มากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสร้างกลับมาได้ทัน หากไม่รีบแก้ไขและร่วมมือกัน มนุษย์เราจะเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกที่ถ้าไม่ปรับตัวก็อาจสูญพันธุ์ได้ ดังน้ันการขับเคลื่อนสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ โดยการนำ Circular Economy มาใช้ในโมเดลทางธุรกิจขององค์กร ด้วยการใช้นวัตกรรมตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค และวนกลับมาสู่วัตถุดิบอีกครั้ง โดยทั้งหมดจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) และสามารถวัดค่าปริมาณต่างๆในกระบวนการผลิตทั้งหมด ตลอดจนใช้นวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนในการผลิตหรือให้บริการนั้นๆ ได้ด้วย

นายนพปฏล กล่าวถึงหนึ่งในกรณีศึกษาตัวอย่างของเครือซีพีที่ทำสำเร็จในเรื่อง Circular Economy คือ โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือซีพี ที่ประเทศจีน เป็นต้นแบบความร่วมมือแบบสามประสาน คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งเครือฯดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาลจีนในแง่รายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร อาหารปลอดภัย และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนในประเทศจีน โดยโครงการผิงกู่ได้วางแผนตั้งแต่แรกให้มีรูปแบบธุรกิจ Circular Economy มีการนำของเสียจากโรงเลี้ยงไก่ไข่ไปใช้ต่ออย่างคุ้มค่า ไม่ให้เกิดการเสียเปล่า อาทิ มูลไก่นำไปสร้างพลังงานชีวภาพมาหมุนเวียนภายในโรงงาน ซากไก่นำไปเลี้ยงอาหารจระเข้ที่ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจสร้างรายได้ รวมทั้งชุมชนได้เรียนรู้การบริหารจัดการโรงงานด้วยเอไอ มีระบบตรวจสอบย้อนกลับไข่ไก่ทุกกล่อง ซึ่งเมื่อครบ 15 ปี โรงงานจะเป็นของชุมชน และเครือซีพีทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อ

ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือซีพี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ Circular Economy ขับเคลื่อนได้จะต้องเริ่มที่ตัวเราทุกคน จากนั้นในระดับองค์กรเอกชนผู้นำจะต้องเป็นแบบอย่าง (Tone at the top) นำพาองค์กรปรับตัวด้วยการคิดถึงส่วนรวม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่นที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพีได้ประกาศว่าทุกกลุ่มธุรกิจในเครือทั้ง 22 ประเทศทั่วโลก จะเป็นองค์กร Zero Carbon แม้จะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย แต่เป็นความพยายามปรับเปลี่ยนองค์กร (Transform)โดยใช้นวัตกรรมมาขับเคลื่อนเรื่อง Circular Economy ตลอดจนผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ทัศนคติของทุกคนในองค์กร สร้างความร่วมมือ และมีตัวชี้วัดระดับโลก

"ถ้าเราจะสร้างโลกใบนี้ให้เป็นของคนรุ่นใหม่จริง องค์กร บริษัทเอกชน ผู้ผลิตต้องเป็นผู้ลงมือให้เห็นเป็นรูปธรรม เริ่มที่ตัวเอง ทุกอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายไปสู่องค์กรให้เกิดการตระหนักรู้ และทำให้เขารู้สึกว่าพวกเขามีผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ เพราะสุดท้ายเราอยู่ในโลกใบเดียวกันทั้งหมด การเป็น Game Changer แต่ละคน จึงต้องตระหนักว่าเรามีหน้าที่ต้องมาดูแลอนาคตร่วมกัน แม้แต่ผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อเรื่องราคาสินค้าบริการ ก็ต้องตระหนักว่าต้นทุนจากการทำลายธรรมชาตินั้นสูงกว่าต้นทุนจากราคาสินค้า เพราะทุกวันนี้ที่เราจ่ายอยู่แล้วเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีผลต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพและชีวิต"นายนพปฎลกล่าว

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่า กลุ่มไทยเบฟฯ พยายามสร้างการตระหนักรู้ในเรื่อง Circular Economy ร่วมกับองค์กรธุรกิจอื่นๆในประเทศไทยที่เข้ามาร่วมมือกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มไทยเบฟให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เริ่มตั้งแต่การจัดซื้อ ผลิต กระจายสินค้า การตลาด การขาย การเก็บกัก เพราะเชื่อว่าเป็นหนึ่งในการช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น เช่น โครงการสมุยโมเดลที่เก็บกักบรรจุภัณฑ์ที่ส่งไปสมุยและสามารถเก็บกลับคืนมาได้ทั้งหมด โดยวัดผลกลับมาได้ชัดเจน โครงการนี้ยังส่งเสริมให้ท้องถิ่นทำงานร่วมกับผู้ประกอบการรายย่อยตลอดจนบริษัทใหญ่และร่วมมือไปยังคู่ค้ารายอื่นด้วย

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารความยั่งยืน และภาพลักษณ์องค์กร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล กล่าวว่า แนวทาง Circular Economy ในประเทศไทยมีความเข้าใจมากขึ้น และนำไปปรับใช้ในทุกภาคส่วนของประเทศ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนเป็นจุดๆยังไม่ได้มองการเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กรจะต้องสร้างวัฒนธรรมและความร่วมมือให้เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนใช้นวัตกรรมมาปรับปรุงการผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ นำวัสดุทางการเกษตรมาเปลี่ยนเป็นไบโอพลาสติก การสร้างระบบรีไซเคิล อัพไซเคิลครบวงจร เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ทรัพยากรน้อยลง 

น.ส.สุรัชนี ลิ่มอติบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บจก.กิมไป๊ ลามิทิวบ์กล่าวว่า หนึ่งในการขับเคลื่อน Circular Economy สำคัญคือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน และผู้บริโภคต้องมีความรู้ความเข้าใจรูปแบบการรีไซเคิล โดยต้องสร้างให้มีแรงจูงใจ (Intensive) เพื่อให้การรีไซเคิลสมบูรณ์และมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะทำให้เกิด Zero Waste โดยสมบูรณ์