หุ้น ‘เสี่ยเจริญ’ มูลค่าวูบแสนล.พิษโควิดกดกำไรกลุ่ม ครึ่งปี 63 ดิ่งหนัก 47%

หุ้น ‘เสี่ยเจริญ’ มูลค่าวูบแสนล.พิษโควิดกดกำไรกลุ่ม ครึ่งปี 63 ดิ่งหนัก 47%

 หุ้นกลุ่ม “เจ้าสัวเจริญ” อ่วมพิษโควิด มาร์เก็ตแคปวูบกว่า 1 แสนล้าน ขณะ กำไรครึ่งปี 63 ดิ่งหนัก 47% เหลือ 2.9 พันล้าน “แอสเสท เวิรด์” หนักสุดพลิกขาดทุนกว่า 768 ล้าน ราคาหุ้นยังไม่พ้นไอพีโอ

ด้าน “โบรกเกอร์” ประเมินระยะยาวได้ประโยชน์จากท่องเที่ยวในประเทศฟื้นเหตุมีโรงแรมในไทย 100% ขณะ “เสริมสุข” เป็นบริษัทเดียวที่มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น

บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่ง “เสี่ยเจริญ” หรือ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นใหญ่ทั้งในนามบุคคลและผ่านบริษัทในเครือ ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 10 บริษัท ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีทั้งสิ้น 11 บริษัท เนื่องจาก บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) ได้ยื่นขอเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และซื้อขายวันสุดท้ายเมื่อ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา

ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ของหุ้นทั้ง 10 บริษัท รวมกันอยู่ที่ราว 3.56 แสนล้านบาท โดย 2 ใน 10 บริษัทนี้ เป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปสูงกว่าหนึ่งแสนล้านบาท คือ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) มีมูลค่า 1.50 แสนล้านบาท และ 1.25 แสนล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว จะเห็นว่ามูลค่าของหุ้นทั้ง 10 บริษัท ในระดับสูงกว่า 3 แสนล้านบาทนี้ ลดลงมาจากเมื่อปลายปีก่อนซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 4.6 แสนล้านบาท ลดลงไปถึง 1.05 แสนล้านบาท หรือราว 22.8% โดยมูลค่าที่ลดลงไปส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของราคาหุ้น AWC ที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3.92 บาท ยังคงต่ำกว่าราคาไอพีโอที่ 6 บาท กว่า 30%

ทั้งนี้ จะเห็นว่ามูลค่าหุ้น “เสี่ยเจริญ” ทั้ง 10 บริษัทนี้ มี 9 บริษัท ที่ลดลง เช่น หุ้น BJC มูลค่าลดลงไป 1.8 หมื่นล้านบาท โดยมีเพียงบริษัทเดียวที่มูลค่าเพิ่มขึ้น คือ บมจ.เสริมสุข (SSC) ซึ่งทำธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเพิ่มขึ้นราว 731 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจที่บริษัทกลุ่มเสี่ยเจริญดำเนินกิจการอยู่นั้น กระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ ไล่มาตั้งแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดำเนินการโดย AWC และ บมจ.ยูนิเวนเจอร์ (UV) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ผ่านบมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FPT) ธุรกิจอาหาร ผ่านบมจ.โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) และบมจ.อาหารสยาม (SFP) ธุรกิจประกันภัยผ่าน บมจ.อินทรประกันภัย (INSURE) และบมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) รวมถึงธุรกิจสื่อ ผ่าน บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN)

ผลประกอบการของทั้ง 10 บริษัทรวมกันในช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 (1 ม.ค.-30 มิ.ย.) มีกำไรสุทธิรวมกัน 2.9 พันล้านบาท ลดลง 47.8% จากปีก่อนซึ่งทำได้ 5.6 พันล้านบาท โดยมี 4 บริษัทที่ผลประกอบการพลิกมาเป็นขาดทุนสุทธิ ได้แก่ AWC ที่ขาดทุน 768 ล้านบาท SFP ขาดทุน 122 ล้านบาท AMARIN ขาดทุน 85 ล้านบาท และ INSURE ขาดทุน 17 ล้านบาท

ส่วนผลขาดทุนของ AWC ที่มากสุดในกลุ่มนั้น บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า ได้ปรับคาดการณ์กำไรปี 2563 - 2565 ลง เนื่องจากกำไรที่ต่ำกว่าคาด และแนวโน้มที่อ่อนแอของธุรกิจการท่องเที่ยว แม้เราจะเชื่อในการเติบโตระยะยาวของบริษัท แต่หุ้น AWC ยังไม่น่าสนใจในระยะสั้น เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์( บล.)บัวหลวง มองว่า สำหรับการลงทุนในระยะยาว AWC จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากการมีโรงแรมในประเทศไทย 100% และเป็นเจ้าของจำนวนห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยสำหรับโรงแรมระดับกลาง-ระดับหรู เรายังคงแนะนำ ซื้อ ด้วยราคาเป้าหมายใหม่วิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) ณ สิ้นปี 2564 ที่ 5 บาท (ปรับลดจาก 5.80 บาท เพื่อสะท้อนประมาณการกำไรใหม่)

ด้านผลประกอบการของ BJC ซึ่งกำไรสุทธิลดลงจาก 3.03 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 1.58 พันล้านบาท หรือลดลง 47.7% ซึ่งถูกกระทบจากเกือบทุกหน่วยธุรกิจ โดย บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ รายได้ลดลง 11.1% ตามคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวจากมาตรการควบคุมโควิด-19 เช่น การงดจำหน่ายแอลกอฮอล์ธุรกิจเวชภัณฑ์และเทคนิค รายได้ลดลง 5.9% จากการที่ผู้บริโภคระมัดระวังรักษาสุขอนามัยมากขึ้น ทำให้อัตราการเจ็บป่วยลดลง ความต้องการยาบางชนิดลดลง

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก รายได้ลดลง 11.4% และยอดขายสาขาเดิมติดลบ 17% จากการจำกัดพื้นที่ขายสินค้าไม่จำเป็น และการจำกัดเวลาเปิดบริการ และการยกเว้นให้ส่วนลดค่าเช่าแก่ผู้เช่า ส่วนธุรกิจอุปโภคบริโภคเป็นธุรกิจเดียวที่รายได้เพิ่มขึ้น 4.7% จากธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจต่างประเทศในเวียดนาม และความต้องการสินค้าเกี่ยวกับการทำความสะอาด แอลกอฮอล์ เจลล้างมือมีสูง ขณะที่การบริโภคในประเทศลดลง

โดยรวมปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ลดลงราว 39% เหลือ 4.78 พันล้านบาท ลดลง 34.3% จากปีก่อน โดยมองว่าช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นจากครึ่งปีแรก

สำหรับกำไรสุทธิของ FPT ซึ่งเติบโตได้ราว 250% จากปีก่อน โดยหลักหนุนจากการที่บริษัทเข้าซื้อหุ้น GOLD ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้มีกำไรพิเศษ 763 ล้านบาท รวมถึงกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทให้กับกองทรัสต์ FTREIT

บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส คาดว่า กำไรในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และครึ่งปีแรกของปี 2564 จะมีการเติบโต ด้วยแรงผลักดันจากการขายสินทรัพย์เพิ่มเติมเข้าสู่กองทรัสต์ฯ FTREIT ต่อไป ขณะเดียวกันอุปสงค์ของโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ายังมีความแข็งแกร่ง แต่รายได้ในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบทางลบจากการลดค่าเช่าเพื่อเยียวยาให้กับผู้เช่าในช่วงการเกิดโรคระบาดโควิด-19

คงคำแนะนำ ซื้อ แต่ราคาพื้นฐานใหม่ปรับลงเป็น 13.80 บาท ซึ่งประเมินด้วยวิธี DCF ล่าสุดนี้ได้ปรับเพิ่มประมาณการปีนี้ 18% แต่ก็ปรับลดในปีหน้าลง 19% สะท้อนสมมุติฐานที่ระมัดระวังมากขึ้นเรื่องยอดขาย ยอดโอนของ GOLD ในธุรกิจที่อยู่อาศัย ธุรกิจโรงแรม และการขายสินทรัพย์ออกไป คาดว่ากำไรจากการขายสินทรัพย์ในปีหน้าจะลดลงเป็น 1.2 พันล้านบาท เทียบกับปีนี้ที่ 2 พันล้านบาท