แนะรัฐใช้ ‘ยาแรง’ พยุงธุรกิจ หวั่น 'โควิด' ลามเลิกจ้าง-เบี้ยวหนี้

แนะรัฐใช้ ‘ยาแรง’ พยุงธุรกิจ หวั่น 'โควิด' ลามเลิกจ้าง-เบี้ยวหนี้

นับวันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ในไทย ยิ่งขยายวง จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และเริ่มมีการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อน สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน เห็นได้จากการออกไปจับจ่ายซื้อสินค้าจำเป็นกันจำนวนมาก

 ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น แน่นอนมาตรการที่รัฐเตรียมไว้ อาจจะไม่เพียงพอ 

 “คมศร ประกอบผล”  หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ทิสโก้   เปิดเผยว่า ผลกระทบจากโรคโควิด-19  เป็นปัจจัยเหนือการควบคุมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะสั้น หากไม่มีมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่เห็นผลอาจทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกจะทยอยประกาศมาตรการการเงินตามหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แต่อาจไม่สามารถชะลอการเทขายหุ้นหรือส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในทันที เนื่องจากคนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไปแล้ว

ดังนั้น ปัจจัยเร่งด่วนที่นักลงทุนและผู้บริโภคต้องการเห็น คือ  3 มาตรการหลัก ดังนี้ 1.มาตรการควบคุมโรค  หลังจากจำนวนผู้ติดเชื่อเพิ่มขึ้นเร็วต่อเนื่องในหลายๆ ประเทศ เป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น  หากยังควบคุมไม่ได้เป็นเวลานาน อาจลุกลามจนทำให้เกิดการปลดคนงาน หรือการผิดนัดชำระหนี้ระลอกใหญ่ ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)            มาตรการการควบคุมโรคนี้อาจต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แม้ในระยะสั้นจะมีแรงเหวี่ยงต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่จะส่งผลดีในระยะยาว เนื่องจากคนมีความหวังว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะจบได้เร็วเหมือนประเทศจีนและเกาหลีใต้ และหากการระบาดของโรคควบคุมได้เร็ว ความเสี่ยง Recession ก็จะลดลงอย่างมาก

2.นโยบายการคลัง เช่น การออกมาตรการลดภาษี หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่มากเพียงพอ จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นฟื้นตัวได้อย่างฉับพลัน โดยมาตรการจำเป็นในประเทศไทยมองว่า ต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการและบรรเทาผลกระทบของประชาชน เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเติมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ และประคองไม่ให้เกิดการเลิกจ้างงาน เพราะหากเกิดการเลิกจ้างจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคในระยะยาว และเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ช้า

3.ลดการซ้ำเติมเศรษฐกิจจากราคาน้ำมัน โดยซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจะต้องกลับมาเจรจาลดปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อช่วยให้ราคาน้ำมันฟื้นตัว และลดความเสี่ยงที่ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้

เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยตอนนี้แทบจะไม่มีภูมิต้านทาน  โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนถึง 11.5% ส่วนส่งออกก็กระทบเป็นลูกโซ่จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า แม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลงแต่ก็ไม่ได้ช่วยมากนัก โดยมาตรการจะเข้ามาช่วยพยุงได้มากที่สุดมองว่าเป็นมาตรการการคลังมากกว่ามาตรการทางการเงิน เพราะเชื่อว่าในภาวะเช่นนี้การปรับลดดอกเบี้ยคงไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก และอาจจะส่งผลร้ายให้คนขาดความเชื่อมั่นมากขึ้น   เช่น Fed ที่ตัดสินใจประชุมนอกรอบเป็นครั้งที่ 2 และประกาศลดดอกเบี้ยลงถึง 1% เป็น 0.00-0.25% ต่อเนื่องจากการการประชุมเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ปรับลด 0.5% แต่แทนที่หุ้นจะวิ่งรับข่าวดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลง 

ทั้งน้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่อาจส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย เพราะปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทยช่วงนี้คือผู้บริโภคไม่ค่อยมีความมั่นใจมากกว่า ส่วนค่าเงินบาทจะทรงตัวถึงอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยมีประเด็นเชิงบวกจากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก และอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศสหรัฐฯ แต่มีประเด็นเชิงลบจากการท่องเที่ยวที่ปรับลดลง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ส่วนทิศทางราคาทองคำยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนกลัวเรื่องอัตราเงินเฟ้อติดลบ แต่จากความเสี่ยงต่างๆ ที่รออยู่มาก หากราคาทองคำลดลงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ

ด้าน “มนชัย มกรานุรักษ์ ” หัวหน้าสำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้  ประเมินว่า ผลกระทบจากไวรัส จะเริ่มส่งผลต่อตัวเลขกำไรบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่เดือนก.พ. 2563 เป็นต้นไป  ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก้าวเข้าสู่ “ตลาดหุ้นหมี” อย่างเต็มตัวแล้ว ส่วนที่ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1% นักลงทุนมองว่า Fed อาจเห็นสัญญาณที่น่ากังวลบางอย่างมากกว่าการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  ดังนั้น การลงทุนแบบระยะสั้นจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ก็ถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการคัดเลือกหุ้นพื้นฐานดีเพื่อการลงทุนระยะยาว เพราะส่วนตัวประเมินว่าแต่ละประเทศน่าจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ในปีนี้ และคาดว่าหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบ V-Shape ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับหุ้นแนะนำ เน้นหุ้นที่มีผลประกอบการเกี่ยวกับการบริโภคในประเทศมีพื้นฐานที่ดี และมีโอกาสฟื้นตัวเร็วหลังสถานากรณ์การแพร่ระบาดของไวรัสคลี่คลาย ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก เช่น  บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL)  กลุ่มสื่อสาร เช่น  บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ( INTUCH) สำหรับกลุ่มท่องเที่ยวก็สามารถหาจังหวะเข้าลงทุนได้ เพราะหากควบคุมการแพร่ระบาดได้ราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวจะกลับมาเร็ว หุ้นที่น่าสนใจ คือ  บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ  บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)

ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารแม้ราคาจะต่ำมากแล้ว แต่ยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุน เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากแล้ว ยังได้รับผลกระทบจาก Disruption ของอุตสาหกรรมการเงินอีกด้วย