"Economic" (6 ก.พ.63)

"Economic" (6 ก.พ.63)

กนง. มีมติเอกฉันท์ 7:0 ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%เหลือ 1.00%

Event

คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.25% เป็น 1.00% โดยให้มีผลทันที

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่ง
ดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคด้วย สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ล่าช้าและยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ให้ติดตามผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ และภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

Impact

- ก่อนหน้านี้ เราเชื่อว่าการระบาดของ coronavirus ที่ทำให้ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยลงและจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจจริงที่สะท้อนจาก GDP ขยายตัวในระดับที่ชะลอตัวลงเหลือ 2.4% (Base case) เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ กนง. จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในการประชุมวันที่ 25 มีนาคม เหลือ 1.00% และ 20 พฤษภาคม เหลือ 0.75%

- แม้ว่าการลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้จะเร็วกว่าที่เราคาด แต่คาดว่า กนง. จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 0.75% ในการประชุมวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าว ดัชนีเศรษฐกิจจะแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงอย่างชัดเจนมากกว่าภาวะปัจจุบัน

- และเพื่อต้องการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กนง . ควรลดดอกเบี้ยลงต่ออีก 0.25%เหลือ 0.50% ในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม

- การระบาดของไวรัสทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการบริโภคในประเทศชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการขยายตัวของ GDP ใน 1Q63-2Q63 มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 2.0% YoY และทำให้ GDP ปี 2563 ชะลอตัวลงเหลือ 2.0% ซึ่งเป็นกรณีต่ำสุดจาก 2.4% เป็นการณี Base case

- GDP ที่ขยายตัวต่ำมากจะทำให้โอกาสที่ไทยจะได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือขึ้นเป็น "A- " หมดลง

- ขณะที่ GDP ไตรมาสที่ 4/63 จะสามารถขยายตัวในระดับสูงสุดของปีเนื่องจากฐานต่ำ

- กนง. ยังให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพและอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจมากกว่าระดับราคาทั่วไป

- อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ กนง. ให้น้ำหนักในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เรายังเชื่อว่า

           i) ถ้า GDP รายไตรมาสขยายตัวต่ำกว่า 3.0%YoY แล้ว กนง. จะลดดอกเบี้ย

          ii) ถ้า GDP รายไตรมาสขยายตัวต่ำกว่า 3.0-3.9% YoY แล้ว กนง. จะคงดอกเบี้ย

         iii) ถ้า GDP รายไตรมาสขยายตัวสูงกว่า 4.0%YoY แล้ว กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย