ครม.ไฟเขียววงเงิน 2.1 พันล้าน ปล่อยกู้เพื่อนบ้านลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ครม.ไฟเขียววงเงิน 2.1 พันล้าน ปล่อยกู้เพื่อนบ้านลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ครม.ไฟเขียววงเงิน 2.1 พันล้านบาท ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับประเทศเพื่อนบ้าน 2 โครงการ โดยเป็นวงเงินของโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1380 ล้านบาท และช่วยเมียนมาร์สร้างสาธารณูปโภคในเมียวดี 777 ล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือสพพ. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือสปป.ลาว และประเทศเมียนมา วงเงินรวม 2,157 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านด้วยการช่วยเหลือเป็นวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปดำเนินการ

ทั้งนี้ในส่วนของการช่วยเหลือกับสปป.ลาว นั้น จะเป็นวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย  ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ  บอลิคำไซ) สำหรับงานในฝั่ง สปป.ลาว ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนทั้งจำนวนวงเงินรวม 1,380 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี 

โดยโครงการดังกล่าว มีแนวทางเริ่มต้นจากตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ผ่านด่านสากลไทย  สปป.ลาว ข้ามไปยังบ้านกล้วย เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ประมาณค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่างานฝั่งไทย 2,630 ล้านบาท และค่างานฝั่ง สปป.ลาว 1,380 ล้านบาท

นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบให้สพพ.ช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศเมียนมา เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปา และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะ) ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน วงเงิน 777 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.5% อายุสัญญา 30ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี มีการใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าสัญญา ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษาเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับสัญญาเงินกู้

สำหรับความสำคัญชองเมืองเมียวดี เป็นพื้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาและไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่การค้าชายแดนกับไทยผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูง7หมื่นล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นเส้นทางการสัญจรของสินค้าและผู้คนจากไทยไปยังเมืองสำคัญต่างๆของเมียนมา การให้การช่วยเหลือในโครงการฯนี้จะเสริมสร้างระบบสาธารณูปโภคของเมียวดีให้สามารถรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับเมือง และระดับประเทศบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกด้วย ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประชาชนที่อาศัยในเมืองเมียวดีจะสามารถเข้าถึงน้ำประปาได้อย่างทั่วถึง