สวทช.แนะโรงพยาบาลอีอีซี ใช้โรบอทตอบคำถามซ้ำซ้อน

สวทช.แนะโรงพยาบาลอีอีซี ใช้โรบอทตอบคำถามซ้ำซ้อน

นำ Chatbot เสริมศักยภาพงานบริการสาธารณสุข ในพื้นที่อีอีซี รับมือปัญหาตอบคำถามซ้ำซ้อน รวดเร็ว และไม่มีหยุดพักตรงประเด็น

นายชยกฤต เจริญศิริวัฒน์ นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยในการสัมมนา เรื่อง “เสริมศักยภาพงานบริการสาธารณสุขด้วย Chatbot” ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ผลักดันด้านงานบริการด้านสาธารณสุข ให้มีการนำเทคโนโลยี Chatbot มาปรับใช้กับงานบริการมากขึ้น

โดยเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อจำลองบทสนทนาของมนุษย์ ให้สามารถพูดคุย สื่อสารกับมนุษย์ผ่านทางเสียงหรือข้อความแบบ real-time ซึ่งจะนำมาปรับใช้ในกลุ่มสถานพยาบาลเพื่อรับมือกับปัญหาในการตอบคำถามซ้ำซ้อน รวดเร็ว และไม่มีหยุดพัก สามารถค้นหาข้อมูลได้ตรงประเด็น เช่น คนไข้หรือญาติคนไข้ที่ต้องการนัดแพทย์ สามารถทำการนัดผ่าน chatbot ได้ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลและทำการกดคิวที่หน้าห้อง พอถึงคิว bot จะส่งข้อความเตือนให้เดินมาที่หน้าห้องตรวจได้ เป็นต้น

นพ.สุกิจ บรรจงกิจ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลระยอง กล่าวว่าโรงพยาบาลมียอดผู้ป่วยนอกที่มารับบริการเกิน 2,000 คนต่อวัน ในขณะที่อัตรากำลังคนยังขาดแคลนจึงต้องพัฒนาระบบงานให้มีคุณภาพและคล่องตัวยิ่งขึ้น กรใช้ระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ในทุกระบบงานเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็น smart hospital ให้ผู้ป่วยสามารถใช้และเชื่อมโยงในทุกสถานบริการ ตลอดจนระบบนัดและคิวออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อลดความแออัดและระยะเวลารอคอย

นายอัจฉริยะ ดาโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง AIYA กล่าวว่าChatbot ที่ใช้ในสถานพยาบาลแบ่ง 2 ส่วน คือ Chat สื่อสารผ่านตัวหนังสือ และ Bot เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยทำงานแทนคนในงานที่ต้องทำซ้ำๆ อีกทั้งยังสามารถทำได้ 24 ชั่วโมง มีความแม่นยำ เก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก และเรียนรู้ได้รวดเร็ว สถานพยาบาลจึงควรมีการนำเทคโนโลยี Chatbot มาปรับใช้ในการติดต่อสื่อสารกันภายในสถานพยาบาล (ภาพ-nectec.or.th)