รฟท.เพิ่มสปีดทางคู่อีอีซี

รฟท.เพิ่มสปีดทางคู่อีอีซี

เพิ่มประสิทธิภาพรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ดันทางคู่ศรีราชา-มาบตาพุด คาดลดเวลาเดินทางจาก 4 ชม. เหลือ 2 ชม. เพิ่มความเร็วจาก 50 กม/ชม. เป็น 90 กม./ชม. เผย หากอีไอเอเสร็จในปี 2563 จะเปิดดำเนินการได้ในปี 2568

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังผลักดันระบบรางในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) จะเจรจาครั้งสุดท้ายกับกลุ่มซีพีในวันที่ 19 มี.ค.นี้ รวมทั้งขณะนี้กำลังผลักดันรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง สัตหีบ มาบตาพุด) ซึ่งจะรองรับการขนส่งสินค้าที่จะมากขึ้นตามการพัฒนาอีอีซี

วานนี้ (11 มี.ค.) รฟท.จัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนต่อสรุปผลการศึกษาโครงการงานศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด

รฟท.เพิ่มสปีดทางคู่อีอีซี

นายสมเกียรติ เตรียมแจ้งอรุณ ผู้จัดการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด เปิดเผยว่า การศึกษาทั้ง 2 โครงการ จะปรับปรุงทางรถไฟเดิม และแก้ไขปัญหาจุดตัดทางผ่านเสมอระดับ ช่วงหัวหมาก-สถานีชุมทางศรีราชา ระยะทาง 115 กิโลเมตร

รวมทั้งก่อสร้างทางคู่ ช่วงชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด และชุมทางเขาชีจรรย์-สัตหีบ และก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองบริเวณชุมทางศรีราชาและชุมทางเขาชีจรรย์ ระยะทาง 85 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 200 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีในแนวเส้นทาง 33 สถานี


ลดจุดตัดทางรถไฟ195จุด

สำหรับ โครงการนี้ จะลดจุดตัดทางรถไฟที่มี 195 จุด โดยแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ 5 แบบ ได้แก่ 1.สร้างสะพานรถไฟข้ามถนน 62 จุด 2.สร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 52 จุด 3.สร้างสะพานกลับรถรูปตัว U 2 จุด 4.สร้างทางลอดทางรถไฟ 79 จุด 5.สร้างทางบริการข้างทางรถไฟ 12 แห่ง รวมทั้งการออกแบบสะพานลอยคนและจักรยานยนต์ข้าม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสัตว์เลี้ยง

โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความเร็วการเดินรถไฟจากปัจจุบันที่ทำความเร็วได้เฉลี่ย 50 กม./ชม. จะเพิ่มความเร็วเป็น 90 กม./ชม. ลดเวลาการเดินทางจากสถานีรถไฟหัวหมากถึง อ.ศรีราชา ที่สถานีบ้านตาหลวง จากเดิม 3-4 ชั่วโมง เหลือ 2 ชั่วโมง

สำหรับงบก่อสร้างประเมินไว้ที่ 30,000 ล้านบาท หลังการออกแบบอาจเพิ่มหรือลดงบ 20% ส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (อีไออาร์) อยู่ที่ 19.9% สูงกว่าค่ามาตรฐานโครงการภาครัฐที่ระดับ 12% ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน โดยผลตอบแทนรัฐที่สูงมาจากการประหยัดระยะเวลาและเพิ่มปริมาณขนส่งคนและสินค้า การลดอุบัติเหตุ และการลดมลพิษ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะรองรับการขยายตัวของอีอีซี รวมทั้งการขยายตัวของกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวม 5 จังหวัด คาดว่าจะเสร็จปี 2568 ซึ่งจะมีประชากร 15 ล้านคน และในปี 2598 จะเพิ่มเป็น 19 ล้านคน นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติปี 2568 อยู่ที่ 121 ล้านคน และปี 2598 จะเพิ่มเป็น 275 ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมปี 2568 มีมูลค่า 7.5 ล้านล้านบาท และในปี 2593 จะเพิ่มเป็น 25 ล้านล้านบาท

ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น3.7%ต่อปี

ส่วนผู้โดยสารในปี 2568 จะมีผู้ใช้รถไฟ 4.2 ล้านคน และในปี 2598 จะเพิ่มเป็น 12.8 ล้านคน หรือขยายตัว 3.7% ต่อปี จำนวนสินค้าที่ขนส่งผ่านทางรถไฟในปี 2568 จะมีสินค้า 4.6 ล้านทีอียูต่อปี และในปี 2598 จะเพิ่มเป็น 14 ล้านทีอียูต่อปี โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังจะรองรับการขยายตัวในเฟส 3 จะเพิ่มจากปัจจุบัน 8 แสนทีอียู ในปี 2593 จะเพิ่มเป็น 4.8 ล้านตู้ โดยในปัจจุบันใช้รถบรรทุกขนส่งมากที่สุดมีสัดส่วนสูงถึง 87.5% รองลงมาเป็นทางเรือชายฝั่ง 7.0% และทางรถไฟเพียง 5.5%

“โครงการนี้จะเพิ่มศักยภาพการขนส่งเชื่อมโยง 3 ท่าเรือหลัก ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่จะมีสินค้าและจำนวนคนเข้าออกทั้ง 3 ท่าเรือนี้เพิ่มขึ้น และถ้าไม่ปรับปรุงทางรถไฟจะเกิดปัญหาจราจรอย่างหนัก”

คาดศึกษาเสร็จ เม.ย.นี้

สำหรับกรอบการดำเนินการในอีก 1 เดือนหลังจากนี้ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะใช้เวลาอีก 6 เดือน ออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเสร็จปลายปี 2562 และทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสร็จในปี 2563 หากผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี และเปิดใช้ปี 2568 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะไม่มาก เพราะใช้ที่ดิน รฟท.เป็นหลัก

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบในเบื้องต้น จะสำรวจสภาพน้ำท่วมของพื้นที่ที่แนวเส้นทางโครงการ เพื่อออกแบบรายละเอียดระบบระบายน้ำให้เหมาะสม รวมทั้ง จะกำหนดสร้างทางลอด ทางเชื่อมชุมชนตลอดแนวเส้นทางโครงการ โดยต้องรับฟังความเห็นของประชาชน กำหนดให้มีการวางแผนการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการจราจร ตั้งแต่ก่อนถึงบริเวณก่อสร้างจนกระทั่งถึงบริเวณก่อสร้างเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความปลอดภัยและสะดวกในการเดินทาง

ด้านการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กำหนดให้การศึกษาอีไอเอ ต้องศึกษารายละเอียดของผลกระทบด้านคุณภาพอากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน และแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยให้ติดตั้งกำแพงกันเสียงถาวร ในบริเวณพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีระดับเสียงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตรวจสอบสภาพท่อ ทางระบายน้ำตลอดแนวเส้นทางโครงการ หากพบว่าอุดตันต้องรีบนำออกโดยเร็ว เพื่อมิให้กีดขวางทางระบายน้ำ ตรวจสอบการใช้งานของทางลอดและทางข้ามสม่ำเสมอ หากพบว่ามีปัญหาต้องรีบแก้ไขทันที