ปฏิรูปข้าราชการดิจิทัล บ่มเพาะ“ทัพไทยแลนด์ 4.0”

ปฏิรูปข้าราชการดิจิทัล บ่มเพาะ“ทัพไทยแลนด์ 4.0”

ก่อนวางรากฐานนาวาไทยปฏิรูปประเทศก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ใน 20 ปีข้างหน้าสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน “ข้าราชการ”คือกำลังพลหลักที่ต้องปฏิรูปตัวเองทั้งทักษะ ทัศนคติ ที่เก่งกว่าเทคโนโลยี รวมถึงประหยัดงบประมาณ แต่ประสิทธิภาพทำงานดีขึ้น

ยุคแห่งการปรับโครงสร้างประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศ20ปี (ปี2560-2579) เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0ยุคแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากนวัตกรรมและเทคโนโลยี บนพื้นฐานการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างประเทศให้เติบโต "มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน”

ข้าราชการคือกำลังพลสำคัญพายเรือเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงถือเป็นหน่วยงานเป้าหมายแรกที่จะต้องถูกปฏิรูป ปรับบทบาทตัวเองเป็นผู้อำนวยความสะดวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัลท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่สามารถคาดเดาได้ ต้องมีระบบการทำงานอย่างคล่องตัวพร้อมตอบสนองภารกิจพิเศษเป็นเป้าหมายหลัก (Agenda-Based)โดยรู้จักนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพลิกโฉมระบบข้าราชการไทยสู่ยุค 4.0 ภายในเวลา 5ปี (ปี2561-2565) เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาในระยะยาว

นี่คือโจทย์ท้าทายของ เมธินี เทพมณี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(สำนักงาน ก.พ.) อดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่โยกมารับตำแหน่งปั้นคลังสมองและกำลังพลในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคลในแวงวงข้าราชการไทยตั้งแต่ปี 2559 ในการปั้นข้าราชการไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนหมดวาระการทำงานในอีก 1 ปีข้างหน้า

เพราะเธอมีแรงผลักจากการถูกสังคมตราหน้าข้าราชการไทยล้าหลังและอ่อนแอ ก้าวไม่ทันยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีพลังที่จะทำให้ประชาชนคนไทยได้เห็นว่าข้าราชการยุคใหม่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงประเทศได้

“ประชาชนคนรับบริการจากข้าราชการหลายคนบ่นว่า เอกชนเปลี่ยนแปลงไปนานแล้ว แต่ข้าราชการยังไม่เปลี่ยนและคิดว่าทำไม่ได้ เราจึงต้องเป็นก้าวแรกที่เดินหน้าพาคนไทยไทยเข้าสู่ยุค4.0 แม้เป็นเรื่องยากและท้าทายแต่บอกตัวเองว่าไม่มีอะไรยาก” เลขาธิการก.พ.เล่า และขยายความถึงภารกิจเปลี่ยนโครงสร้างข้าราชการไทยว่า

ตามแผนปรับโครงสร้างข้าราชการไทยจะต้องมีจำนวนและการใช้งบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากรข้าราชการลดลงสัดส่วน 30% ของงบประมาณประจำปีที่มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาทภายในปี 2565 จากเดิมที่ใช้งบประมาณสัดส่วน 40-50%ของงบประมาณประจำปี โดยงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐปัจจุบันอยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหลือเพียง 10-20%

ในส่วนของอัตรากำลังพลข้าราชการไทยทั่วประเทศในปัจจุบันรวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านคน แบ่งเป็น พลเรือน 4 แสนคน ครู 6 แสนคน ตำรวจ 2.1 แสนคน และทหารอีกส่วนหนึ่ง ที่ก็ต้องลดลงในอนาคตเช่นเดียวกัน

นั่นหมายถึงจำนวนพนักงานของรัฐที่ลดลงแต่จะต้องทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญจะต้องพัฒนาระบบที่เอื้อให้คนดีและคนเก่งอยู่ในข้าราชการไทย โดยเฉพาะการดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ บนโลกยุคดิจิทัลที่มีเทรนด์คนต้องการประกอบอาชีพอิสระและเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น

นิยาม "ข้าราชการยุคดิจิทัล จะต้องมีมิติการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปโดยมีทักษะหลากหลาย (Multi-Skill)เน้นเป้าหมาย(Agenda-Based)ผ่าน 5 มิติการทำงาน คือ 

1.รู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี 2.เข้าใจกฎหมายและมาตรฐาน 3.นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการทำงาน 4.ใช้ดิจิทัลในการวางแผนบริหารจัดการองค์กร และ5.นำดิจิทัลเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ภายใน 5 ปี(ปี2565)

ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานไม่เน้นการแยกส่วนกรม กอง แต่จะต้องทำงานเชื่อมโยงบูรณาการทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน (Holistic Transformation)และมุ่งเน้นการทำงานตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น และพร้อมทำงานตามเป้าหมายภารกิจหลัก(Agenda-Based)พร้อมยุบและสร้างใหม่จากอดีตที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา

“โดยประเทศที่พัฒนาแล้วต้องลดงบบุคลากร แต่ไม่ได้แปลว่าจะเลิกจ้างแต่ต้องค่อยๆคัดเลือดคนคุณภาพมากขึ้น คนจะต้องทำได้หลายงาน และพร้อมปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว เช่น พร้อมเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่นในวันที่ไม่มีงาน” เลขาฯก.พ.อธิบาย

เลขาธิการก.พ.ยังระบุว่า แรงท้าทายในโลกดิจิทัลกับข้าราชการไทยเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสในการปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยการมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีมาใช้แทนกำลังคนในบางจุด เพื่อผลักดันให้คนมีทักษะการทำงานที่สูงขึ้นที่เทคโนโลยีทำแทนไม่ได้

ขณะเดียวกัน จะต้องช่วงชิงคนเก่งที่มีทัศนคติอยากเข้ามารับราชการ พร้อมกับรักษาคนเก่งให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อป้องกันปัญหา “สมองไหล” ช่วงชิงคนเก่งที่เป็นเด็กนักเรียนทุนไปทำงานในบริษัทต่างชาติ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เริ่มตั้งแต่การปฏิรูปอัตราค่าตอบแทนในหน่วยงานที่เป็นAgenda-Basedนอกจากในสายงานกระทรวง ทบวง กรม ที่มีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว 300 สายงาน ยังตั้งหน่วยงานองค์การมหาชน ที่มีอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่าราชการทั่วไปและมีความท้าทายในการทำงาน เพราะเป็นหน่วยงานผลักดันนโยบายสำคัญ

ขณะเดียวกันการเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนข้าราชการที่มีแววจะขึ้นไปเป็นระดับผู้บริหาร แลกเปลี่ยนไปทำงานในบริษัทเอกชนที่เป็นกึ่งรัฐวิสาหกิจ เพื่อรับเงินเดือนที่สูงและมีประสบการณ์การทำงานเอกชน แล้วจึงกลับมาเป็นผู้บริหาร หรือพัฒนาระบบการทำงานที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน่วยงานเพื่อมีหลากหลายทักษะ (Rotation)เพื่อก้าวไปสู่ระดับผู้บริหารในอนาคต

รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการค้นหาระดับหัวกะทิและมีทัศนคติที่ดีเหมาะสมในการรับราชการไทย ที่ผ่านมามุ่งเน้นเพียงผ่านการสอบคัดเลือกข้าราชการที่คนสอบ 5 แสนคน ในภาค ก. มีผู้สอบได้เพียง 3%และมีภาค ข. และภาค ค.ในการทดสอบทักษะความถนัดที่เป็นการทดสอบในเบื้องต้น ซึ่งใช้เวลานานและในที่สุดอาจจะไม่ได้คนที่ตรงกับความต้องการในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น จึงเพิ่มทางเลือกเข้าไปเฟ้นหาเด็กเก่งที่จะเข้ามาเป็นกำลังพลของประเทศในอนาคต ผ่านการให้ทุนการศึกษา โดยการจัดงานมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศ ครั้งที่ 15 (OCSC International Education Expo 2018)ระหว่างวันที่ 10-11 พ.ย.25612 ตั้งแต่เวลา 12.00-18.00 น. ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ภายในงานจะรวบรวมข้อมูลข่าวสารการศึกษาต่อและทันรัฐบาลกว่า 500 ทุน รวมถึงมีสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกกว่า 360 สถาบัน จาก 26 ประเทศ

“เราต้องทำให้คนเก่งและฉลาด รวมถึงต้องมีคุณธรรมและมีใจรักในการทำงานเพื่อประเทศมารับราชการมาพัฒนาประเทศ จึงจัดงานOCSCออกไปคัดเลือกคนเก่งเป็นการหาคนเร่งด่วน(Fast Track)แทนนั่งรอสมัครตามกระบวนการ เพื่อหาคนที่มีคุณสมบัติหลากหลาย นำความรู้ และนำหลักสูตรใหม่มาพัฒนาประเทศ”

ที่ผ่านมานักเรียนทุนที่ได้ไปศึกษาต่างประเทศถูกซื้อตัวไปทำงานกับบริษัทต่างประเทศหลายคน จึงเป็นการสูญเสียโอกาสและงบประมาณมหาศาลหากเรียนจบมาแล้วไม่ได้เข้ามาทำงานกับภาครัฐ จึงต้องคัดเลือกคนตั้งแต่เริ่มต้นทัศนคติที่มุ่งมั่นต่อการทำงานราชการ และสร้างโอกาสให้หัวกะทิเหล่านี้มีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหาร

คนที่รับราชการจะต้องมีทัศนคติรักต่ออาชีพอดทน เสียสละ และภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศเธอกล่าวทิ้งท้าย