วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (26 มี.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (26 มี.ค.61)

ซาอุดิอาระเบียเสนอลดการผลิตถึงปีหน้า หนุนราคาน้ำมันปิดทะยานเหนือ 70 ดอลลาร์

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 61 หลังได้รับแรงหนุนจากรัฐมนตรีพลังงานซาอุดิอาระเบีย ที่กล่าวว่า กลุ่มโอเปคและผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปค นำโดยรัสเซีย ยังมีความจำเป็นในการปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องจนถึงปีหน้า เพื่อลดปริมาณอุปทานน้ำมันส่วนเกินให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการทบทวนระดับที่เหมาะสมในการปรับลดกำลังการผลิตสำหรับปีหน้าก่อนสิ้นปีนี้

+ ตลาดกังวลว่าสหรัฐ จะมีการออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่และคาดส่งผลให้การผลิตและส่งออกน้ำมันของอิหร่านปรับลดลง หลัง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่คือ นาย John Bolton ซึ่งมีท่าทีต่อต้านอิหร่านมากกว่าที่ปรึกษาคนเดิมคือ นายพล H.R. McMaster

- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ ยังคงเดินหน้าเพิ่มการขุดเจาะขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีโดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้น 4 แท่นมาแตะระดับ 804 แท่นในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 มี.ค. 61

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันเบนซินสหรัฐ ที่เริ่มฟื้นตัวหลังความต้องการใช้ปรับเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 64-69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 68-73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐที่ฟื้นตัวขึ้น หลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ปรับลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากกำลังการกลั่นของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน
  • การร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปคยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยระดับความร่วมมือระหว่างทั้งสองกลุ่มในเดือน ก.พ. แตะระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มข้อตกลง นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตยังมีแนวโน้มร่วมมือกันต่อเนื่องในการปรับลดกำลังการผลิตไปจนถึงปี 2562
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดย EIA รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบในปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 มาแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวันและปริมาณการผลิตคาดจะปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้

-----------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

โทร.02-797-2999